fbpx

แนวคิด High Scope ตอบโจทย์การสอนเด็กปฐมวัย

สารบัญ
ไฮสโคป

การสอนแบบ High Scope (ไฮสโคป) การเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย

การสอนหนังสือให้กับเด็กนักเรียนนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นเจาะจงไปที่วิชาการ เน้นการประดิษฐ์ทดลอง แต่การเรียนรู้ที่เหมาะสมนั้นควรส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเกิดพัฒนาการทั้งในด้านของอารมณ์ องค์ความรู้ และด้านสังคม ซึ่งการสอนแบบไฮสโคปมีลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมด โดยหลักสูตรไฮสโคปนี้จะเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเองอย่างอิสระ 

บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับการเรียนรู้แบบไฮสโคปที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยในยุคนี้ว่ามีที่มา มีหลักการและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางประกอบการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนการเรียนให้กับเด็ก ๆ

มาทำความรู้จัก High Scope (ไฮสโคป) การเรียนรู้ผ่านการเล่น

ไฮสโคปเป็นรูปแบบการสอนรูปแบบหนึ่งที่มีต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา มีหลักสูตรแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจต์ เป็นการสอนโดยใช้หลักการสร้างความรู้จากการกระทำผสมผสานกับองค์ความรู้ที่วางแผนไว้ เน้นให้เด็กนักเรียนลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างอิสระ 

ซึ่งกิจกรรมที่ทำนั้น เป็นสิ่งที่เด็กนักเรียนเลือกมานำเสนอให้กับคุณครู จากนั้นคุณครูก็จะออกแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ประกอบกับการจัดเตรียมสื่อและอุปกรณ์ให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กเลือกเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และจัดการปัญหาเป็นระบบได้ด้วยดี

3 หัวใจสำคัญของ High Scope (ไฮสโคป) วงล้อการเรียนรู้จากการลงมือทำ

การเรียนรู้แบบไฮสโคปมีวงล้อขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักๆ อยู่ 3 วงล้อ ได้แก่ การวางแผน การลงมือปฏิบัติและการทบทวน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

การวางแผน (Plan)

ในขั้นนี้จะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนถึงแนวทางการเรียนรู้ว่าจะจัดการดำเนินกิจกรรมออกมาในรูปแบบใด มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร การวางแผนเช่นนี้จะทำให้นักเรียนสนใจในกิจกรรมที่จัดมากขึ้นเพราะตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกความคิดเห็น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กนักเรียนเป็นคนกล้าตัดสินใจ กล้าเสนอความคิดและส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย

การลงมือปฏิบัติ (Do)

วงล้อการเรียนรู้แบบไฮสโคปอันต่อมาคือการลงมือปฏิบัติตามแบบแผนที่กำหนดร่วมกันไว้ในขั้นแรก นักเรียนจะต้องทำกิจกรรมโดยใช้วิธีการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างอิสระเสรีเพื่อให้กิจกรรมสำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ 

โดยครูผู้สอนสามารถช่วยให้คำแนะนำประกอบได้ตามความเหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้จะส่งเสริมให้เด็กนักเรียนฝึกการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น พร้อมทั้งฝึกใช้ความคิด ฝึกทักษะการสื่อสาร

การทบทวน (Review)

วงล้อของไฮสโคปอันสุดท้ายคือการทบทวน โดยจะเป็นการทบทวนดูว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นนั้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามความต้องการแล้ว เด็กนักเรียนจะมีวิธีการวางแผนใหม่อย่างไร ในขั้นตอนนี้จะเป็นการฝึกการสังเกต ฝึกกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ทั้งยังฝึกการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจอีกด้วย

จุดเด่นของการสอนแบบ High Scope
(ไฮสโคป)

การเรียนรู้แบบไฮสโคปนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบอยู่หลายองค์ประกอบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยบทความนี้จะนำเสนอองค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นของการสอนแบบไฮสโคป 7 องค์ประกอบ ดังนี้

1. การมีเด็กเป็นศูนย์กลาง

จุดเด่นแรกของการสอนแบบไฮสโคปคือการมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนรู้ กล่าวง่ายๆ คือแบบเรียนและกิจกรรมที่ทำจะต้องอิงจากเด็กนักเรียน โดยเป็นการปรึกษากันว่าตัวของนักเรียนมีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องใดบ้าง ต้องการที่จะทำสิ่งใดบ้าง เพื่อที่ว่าเด็กจะได้มีสมาธิและมีความใจจดใจจ่อกับสิ่งที่ตนเองอยากจะทำจริง ๆ

2. พื้นที่และเวลาที่เพียงพอ

จุดเด่นต่อมาของไฮสโคปคือมีพื้นที่และเวลาที่เพียงพอเหมาะสมกับการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเวลาสำหรับการเล่นและการเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม โดยการมีพื้นที่ที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีพื้นที่ที่น้อยเกินไป เด็กทุกคนอาจจะเรียนรู้ได้ไม่ทั่วถึงกัน ส่งผลให้เด็กวอกแวก ไม่โฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ นอกจากนั้นการควบคุมเวลาให้พอดี จะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้ที่จะแบ่งเวลาเป็นและพยายามรักษาเวลาอีกด้วย

3. สื่อและอุปกรณ์เหมาะสม

สื่อและอุปกรณ์ที่เหมาะสม หลากหลาย และมีจำนวนเพียงพอจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากว่าเด็กจะสามารถเลือกสื่อและอุปกรณ์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ที่จะเลือกสรรอุปกรณ์ให้เหมาะสมเพื่อให้กิจกรรมที่ทำประสบความสำเร็จนั่นเอง

4. การจัดเก็บของ

การเรียนรู้แบบไฮสโคปจะมีการจัดของที่เป็นระบบระเบียบ เพื่อง่ายต่อการเลือกใช้งานในครั้งต่อไป โดยของที่อยู่ในหมวดหมู่ประเภทเดียวกันจะจัดให้อยู่ใกล้ ๆ กัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักแยกประเภทของสิ่งของ จดจำว่าสิ่งใดควรเก็บไว้ตรงไหนบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือการฝึกให้เด็กรู้ว่าเมื่อใช้ของสิ่งใดเสร็จแล้ว ต้องจัดเก็บสิ่งของให้เข้าที่เข้าทางเสมอ

5. ประสาทสัมผัสทั้ง 5

การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กนักเรียนเป็นคนรู้จักช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบกาย ส่งเสริมให้เกิดความสงสัย ใฝ่รู้ และนำไปสู่การลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ซึ่งจะสั่งสมเป็นประสบการณ์ให้เด็กต่อไป

6. การบอกเล่าจากเด็ก

การบอกเล่าจากเด็กนั้นถือเป็นการสะท้อนการสอนที่ดี การสอนแบบไฮสโคปจึงเน้นฟังประสบการณ์ที่นักเรียนเป็นคนพบเจอจากการที่ได้ลงมือทำอย่างอิสระ ซึ่งเด็กจะได้ฝึกการถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง และหากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เด็กนักเรียนก็จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้นด้วย

7. การได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่

ไฮสโคปต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เนื่องจากการเรียนรู้จะต้องมีอุปกรณ์ สื่อ พื่นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ ดังนั้นการที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ก็จะช่วยให้การเรียนรู้แบบไฮสโคปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

โดยนอกเหนือจากการเตรียมของที่ต้องใช้ในการเรียนแล้ว การเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนของเด็กและการให้กำลังใจก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ เพราะหากสายสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดี บรรยากาศในห้องเรียนก็จะดีตามไปด้วย

ประโยชน์ของการสอนแบบ High Scope
(ไฮสโคป) ที่ได้มากกว่าการเรียนรู้

การสอนแบบไฮสโคปที่เน้นการลงมือทำอย่างอิสระของเด็กนักเรียนนั้นส่งผลให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

  • เด็กให้ความสนใจกับการเรียนมากกว่าปกติ เพราะตนเองมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมที่ทำ
  • การสอนแบบไฮสโคปจะช่วยส่งเสริมทักษะต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียน เช่น ทักษะการคิดเป็นระบบ ทักษะการวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไขปัญหา ทักษะการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ เป็นต้น
  • เด็กนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทั้งเพื่อนหรือคุณครู เนื่องจากต้องสื่อสารและพยายามช่วยกันทำกิจกรรมให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
  • เด็กนักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ในระยะยาว

สรุป

การเรียนรู้แบบไฮสโคปเป็นการเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสมเพราะว่าแกนหลักของหลักสูตรคือการให้เด็กนั้นวางแผนการเรียนรู้ร่วมกับคุณครูว่าต้องการให้การเรียนนั้นเป็นอย่างไร มีกิจกรรมอะไรที่เด็กต้องการจะทำบ้าง ซึ่งเด็กก็จะมีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณครูสอนเนื่องจากเป็นสิ่งที่นักเรียนตัดสินใจเลือกเอง 

โดยการสอนแบบไฮสโคปไม่ได้พัฒนาแค่ด้านสมองเท่านั้น แต่ยังพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วย เพราะตัวเด็กนักเรียนต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา 

ทาง Speak Up Language Center ก็ใช้วิธีการสอนที่อิงมาจากการสอนแบบไฮสโคป โดย Speak Up นั้นเป็นสถาบันสอนภาษาที่มีการใช้สื่อและอุปกรณ์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสมอง ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความสนุกสนาน หลากหลาย ไม่จำเจ ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนมีความอยากเรียนรู้อยู่ตลอด ดังนั้นแล้วหากผู้ปกครองท่านใดสนใจเทคนิคไฮสโคปที่นำมาเสนอ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เผื่อจะนำไปปรับใช้ในการสอนลูกได้เช่นกัน

เกมฝึก coding

รวมเกมฝึก Coding เสริมสร้างกระบวนการคิดสำหรับเด็ก

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทักษะและสิ่งที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ก็เปลี่ยนแปลงตาม ปัจจุบันนี้ coding ถือเป็นทักษะ และเทรนด์การเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตอย่างมาก หลายคนอาจจะคิดว่าทักษะ coding เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากตัวเด็กและเหมาะกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วการปลูกฝังทักษะ coding ถือเป็นการฝึกให้เด็กมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพราะการเรียนรู้ด้าน coding ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเหล่าตัวเล็กเลย 

ในบทความนี้ได้รวบรวมเกมและกิจกรรมที่ช่วยฝึก coding มาไว้ให้คุณพ่อและคุณแม่ได้ร่วมฝึกทักษะดังกล่าวไปพร้อมกันกับลูกๆ กิจกรรมที่นำมาฝากจะมีอะไรบ้างและมีวิธีการเล่นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย 

coding คืออะไร

Coding คืออะไร?

Coding คือทักษะในการคิดและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ หากปัญหาเป็นมวลพลังงานหนึ่งก้อน ด้วยทักษะดังกล่าวนี้ จะเป็นการที่พยายามแยกส่วนประกอบและถอดปัญหาออกเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ เพื่อให้เห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา แน่นอนว่าการที่มีทักษะ Coding ติดตัวนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการวางแผน ทักษะในการเข้าใจเรื่องตรรกะ หรือแม้แต่การต่อยอดอย่างการเขียนโปรแกรม ที่หากมีทักษะนี้ในปัจจุบันก็สามารถใช้เป็นหนึ่งในทักษะแห่งอนาคตได้ด้วย

เกมฝึก Coding คืออะไร?

เกมฝึก Coding นั้นไม่ได้จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเล่นกิจกรรมแต่อย่างใด เพราะการฝึกโค้ดดิ้ง นั้นมุ่งเน้นกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ฝึกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดเชิงคำนวณ เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นภาพและเข้าใจแนวคิดของการ Coding มากยิ่งขึ้น

แนะนำ 9 เกมฝึก Coding สำหรับเด็ก

และแล้วก็มาถึงเนื้อหาที่จะพาผู้ปกครองทุกคนมารู้จักกับ 9 เกมฝึก Coding สำหรับเด็ก โดยกิจกรรมเหล่านี้เหมาะอย่างมากสำหรับเด็กที่มีอายุช่วงอนุบาลไปจนถึงประถม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กเล็กเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาอย่างเป็นระบบระเบียบและหัดคิดนอกกรอบ พร้อมที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีเหตุผลในการใช้ชีวิต และมองโลกในมิติที่น่าสนใจยิ่งขึ้น ถ้าอยากรู้แล้วว่า 9 เกมฝึกทักษะ Coding ที่นำมาฝากนั้นมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้ ดังนี้

เกมฝึกโค้ดดิ้ง

1. สร้างรูปนกฮูกตามแบบ

ตัวเกมจะให้กระดาษที่มีรูปต้นแบบของนกฮูก พร้อมกับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของนกฮูกแบบแยกส่วน เพื่อให้เด็กๆ ได้นำมาประกอบกันเป็นนกฮูกตามต้นแบบที่มีไว้ให้ สิ่งนี้เป็นการฝึกให้เด็กได้เจอกับปัญหาเบื้องต้นด้วยตัวเอง และมีอิสระในการตัดสินใจเลือกประกอบชิ้นส่วนของนกฮูก เพื่อให้ผลลัพธ์มีความเหมือนกับนกฮูกตัวต้นแบบตามที่โจทย์ได้ให้มา จัดเป็นเกมฝึกทักษะ Coding ที่เล่นได้ง่าย และตรงตามวัตถุประสงค์ของการฝึกทักษะ Coding ได้อย่างดีทีเดียว

โค้ดดิ้ง เด็ก

2. ปริศนาลับสมอง

ปริศนาลับสมองเป็นเกมที่จะทิ้งปริศนาไว้ให้กับผู้เล่น โดยที่ภายในเกมมีคำใบ้หรือตัวช่วยอยู่ภายในโจทย์ หากผู้เล่นสามารถสังเกตหรือเข้าใจกลไกของเกมได้ ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปริศนาที่มีได้อย่างง่ายดาย ตัวเกมยังคงเน้นการใช้ความคิด วิเคราะห์ และแยกแยะปัญหาออกเป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อไขปริศนาของตัวเกม ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในรูปแบบความคิดที่สำคัญอย่างมากสำหรับ Programmer

coding สำหรับเด็ก

3. ฝึกลำดับเรื่อง

การฝึกให้เด็ก ๆ ได้จินตนาการ เป็นหนึ่งในแนวทางของเกมฝึกลำดับเรื่องนี้เอง ตัวเกมจะให้โจทย์ผู้เล่นทำการเรียงลำดับเรื่องจากชิ้นส่วนเนื้อหาแต่ละตอน ซึ่งอาจจะมีภาพประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ เด็กๆ จะต้องพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อประกอบแต่ละตอนได้แล้วจะต้องเป็นเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดเป็นเหตุเป็นผล และอ่านรู้เรื่อง 

นี่เป็นการฝึกให้เด็กตัวน้อยได้เรียนรู้ความสำคัญของการจัดลำดับก่อนและหลัง รวมถึงการใช้ความคิดเพื่อวิเคราะห์แต่ละตอนด้วยเหตุผล และตรรกะที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการฝึก Coding

เรียน coding สำหรับเด็ก

4. ต่อเลโก้

เรียกได้ว่าเป็นเกมสุดคลาสสิก ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับการต่อเลโก้ ที่ไม่ได้เพียงแค่ฝึกจินตนาการในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากอุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่นี่เป็นเกมฝึก Coding ที่ทำให้ผู้เล่นได้เข้าใจ และเห็นภาพรวมของการ coding ไม่มากก็น้อย เพราะหากเทียบกับการเขียนโปรแกรมแล้ว นี่ก็เป็นเหมือนการใส่ข้อมูลทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้เกิดเป็นโปรแกรมตามที่ผู้ Code ต้องการนั่นเอง

ทักษะโค้ดดิ้ง

5. สร้างบล็อก

ต่อเนื่องกับการฝึกการมองภาพรวมและการคิดอย่างเป็นระบบด้วยเกมฝึก Coding ที่ผู้ปกครองทุกคนคุ้นเคยกัน อย่างเกมสร้างบล็อกที่เป็นการให้ลูกได้ลองสร้างสรรค์ และต่อบล็อกที่ตัวเองต้องการสร้างทีละบล็อก 

เกมนี้นอกจากจะเน้นทักษะในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นรากฐานของทักษะ Coding แล้ว ยังเป็นเกมที่มุ่งเน้นการฝึกความอดทนและใจเย็นในระหว่างที่ทำกิจกรรมอีกด้วย ถือเป็นเกมที่ฝึกสมาธิให้กับเด็กตัวจิ๋วได้ดีทีเดียว

ฝึกทักษะโค้ดดิ้ง

6. ตามล่าสมบัติ

เกมถัดมาคือเกมตามล่าสมบัติ ที่จะให้น้อง ๆ ได้สวมบทบาทเป็นโจรสลัดออกผจญภัย และเจอกับคำใบ้ปริศนาที่ขณะเล่นจะได้เรียนรู้หลักการอัลกอริทึมผ่านบัตรคำสั่งต่าง ๆ ที่จะได้พบระหว่างการเดินทาง เมื่อเปิดเจอชุดคำสั่ง ผู้เล่นจะต้องทำภารกิจให้สำเร็จ ในกรณีที่เจอกับบัตรคำสั่งที่ให้ทายสมบัติที่คาดว่าจะอยู่ปลายทาง จะต้องคาดคะเนความเป็นไปได้ของสิ่งของที่กำลังไล่ล่าว่าคืออะไรให้ใกล้เคียงมากที่สุด ด้วยความสนุก และความตื่นเต้นระหว่างการเล่นเกมตามล่าสมบัติ ทำให้นี่เป็นเกมฝึก Coding ที่มีความนิยม และเด็ก ๆ ชื่นชอบอย่างมาก

เกมโค้ดดิ้ง

7. บัตรคำสั่ง

เกมนี้เป็นการปูรากฐานเกี่ยวกับเรื่องการสร้างอัลกอริทึมให้กับเด็กได้แบบที่ไม่รู้ตัว โดยกติกาในการเล่นจะมีตารางขนาดใหญ่หนึ่งตาราง ซึ่งในแต่ละตารางจะมีบัตรคำสั่งอยู่ หากเด็ก ๆ หยิบได้คำสั่งอะไรก็จะต้องทำภารกิจตามหน้าบัตรให้สำเร็จ แนวคิดที่ผู้เล่นจะได้รับคือแนวคิดพื้นฐานของวิทยาการคำนวณ อย่างการแยกส่วนประกอบของปัญหา หรือที่เรียกว่า Decomposition นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้ระบบของอัลกอริทึมด้วยไปในตัวอีกด้วย

coding เด็ก

8. พิชิตเขาวงกต

เกมพิชิตเขาวงกตนี้เป็นเกมที่มีรูปแบบการเล่นที่หลากหลาย และสามารถเพิ่มความยากง่ายได้ตามความเหมาะสม สำหรับระดับพื้นฐานจะเป็นการให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปในสถานที่หนึ่งและวางสิ่งของเพื่อสร้างอุปสรรคในการหาทางออก นี่จัดได้ว่าเป็นการปลูกฝังวิธีการคิดแบบนัก Programmer ที่ต้องใช้หลักตรรกะ และการทดลองเพื่อสร้างโปรแกรมใหม่ๆ ที่มีความเหนือชั้นอยู่เสมอ

หากระดับพื้นฐานง่ายเกินไปและตัวเกมจบเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ ต้องการเพิ่มความท้าทายในการพิชิตเขาวงกต ผู้ปกครองก็สามารถเพิ่มกติกาในการเล่น โดยเพิ่มผู้เล่นในเกมนี้ให้เป็น 2 คน โดยแต่ละคนจะมีบทบาทและวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน คนหนึ่งเป็นคอมพิวเตอร์และอีกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ คนที่ได้รับบาทเป็นคอมพิวเตอร์จะต้องเดินเข้าไปในเขาวงกต พร้อมผ้าปิดตา ตัวช่วยเดียวที่จะทำให้เขาออกมาจากเขาวงกตได้คือ การฟังคำพูดของโปรแกรมเมอร์ในการบอกทิศทาง ถือเป็นเกมที่สร้างได้ทั้งความสนุกระหว่างเล่นและปลูกฝังแนวคิดในการฝึก Coding ไปในตัว

coding เด็ก

9. คณิตศาสตร์และการคำนวณ

ตามที่หลายคนรู้ดีว่าการ Coding นั้นใช้พื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และการคำนวณพื้นฐาน ผู้ปกครองจึงสามารถนำชุดตัวเลขพื้นฐานหรือสมการที่ถอดได้ไม่ยากไปประยุกต์กับตัวเกมได้ เพื่อให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของวิชาคณิตศาสตร์และวิธีในการคำนวณได้อีกด้วย

เกมฝึก Coding สำคัญแค่ไหน

การที่ให้เด็กได้ฝึกทักษะ Coding เป็นการปูพื้นฐานและทำให้เด็กได้รู้จักกับการ Coding ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่คนยุคใหม่จำเป็นต้องรู้ อีกทั้งการที่เด็กได้ซึมซับแนวคิดของการ Coding ก็จะยิ่งทำให้มีกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบระเบียบ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าทดลอง และที่สำคัญคือส่งเสริมการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ได้

สำหรับผู้ปกครองที่สนใจและอยากให้ลูกๆ ได้ฝึกทักษะ Coding ที่ Speak Up Language Center เองก็มีการเรียนการสอน Coding ผ่านสื่อและรูปแบบของเกม กิจกรรมที่จะทำให้ลูกของคุณได้สนุก พร้อมกับเรียนรู้ Coding สำหรับเด็กไปด้วย

สรุป

Coding ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็ก ๆ ก็สามารถเริ่มเรียนรู้และเข้าใจคอนเซปต์ของการ Coding ได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหลักของการ Coding คือการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และฝึกให้เด็ก ๆ ได้คิดเชิงตรรกะมากยิ่งขึ้น โดยการฝึกทักษะ Coding นั้นไม่ได้จำเป็นจะต้องเริ่มเรียนรู้กันผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะเด็กเล็กควรเริ่มเรียนรู้จากเกมหรือรูปแบบของกิจกรรมที่ช่วยฝึกวิธีการคิดแบบ Coding เสียก่อน 

โดยแต่ละเกมที่ได้แนะนำไปนั้น ล้วนเป็นเกมที่มีจุดประสงค์ในการสร้างแนวคิดแบบ Coding ทั้งหมด เน้นหนักไปที่การแก้ไขปัญหาที่ต้องแยกแยะประเด็นย่อยออกมา เพื่อให้พบกับสาเหตุที่แท้จริง และจึงค่อยแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปทีละจุด ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เกมฝึก Coding เป็นรูปแบบกิจกรรมที่กำลังมาแรงในหมู่ของเด็กเล็ก สำหรับผู้ปกครองที่เห็นความสำคัญของกระบวนการคิดและเส้นทางในการเติบโตของลูก ๆ ในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง 

ฝึกพูดภาษาจีน

มัดรวม 5 เทคนิคฝึกพูดภาษาจีน ให้เด็กใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“ภาษาจีน” เป็นอีกหนึ่งภาษาที่สำคัญไม่แพ้ภาษาอังกฤษ และยังเป็นภาษาที่ 3 ที่หลาย ๆ คนเลือกเรียนกัน เพราะในปัจจุบัน ภาษาจีนเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงานก็เริ่มมีภาษาจีนเข้ามาให้พบเห็นอยู่เสมอ จึงทำให้ผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ หรือมีทักษะภาษาจีนในด้านอื่น ๆ ก็จะส่งผลให้มีโอกาส หรือได้เปรียบทั้งในเรื่องของการเรียน และการทำงานมากกว่าคนอื่น นอกจากนั้นยังสามารถนำไปต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งการเรียนภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกพูดภาษาจีน ฟัง อ่าน หรือเขียนตั้งแต่ยังเด็กจะได้ผลดีกว่าการเริ่มเรียนตอนโต เพราะเด็กเล็กสามารถจดจำได้เร็ว และจำได้แม่นยำ แต่ว่าการเรียนด้วยวิธีทั่วไปนั้นอาจจะได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น ทาง Speak Up จึงมีเทคนิคการพูดภาษาจีนมาฝาก เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถฝึกพูดภาษาจีนได้ทุกวัน และสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยจะมีเทคนิคอะไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลย

เทคนิคการพูดภาษาจีน

1. พูด-ท่องศัพท์-หัดเขียน

การพูด ท่องศัพท์ และหัดเขียนภาษาจีนเป็นเทคนิคการพูดภาษาจีนที่ผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นทำได้ทันที และเป็นเทคนิคพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับภาษาจีนและสามารถฝึกพูดภาษาจีนได้ง่ายขึ้น โดยเทคนิคนี้จะเริ่มจากการที่ผู้ปกครองเรียกสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวด้วยภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นดินสอ ปากกา สมุด หนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ หรือเตียง เพื่อให้เด็ก ๆ เริ่มทำความรู้จักว่าสิ่งเหล่านั้นฝึกพูดเป็นภาษาจีนในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง และเมื่อเด็ก ๆ เริ่มคุ้นชินแล้ว ก็ค่อยพูดถึงสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว โรงเรียน หรือสนามเด็กเล่น เป็นต้น รวมถึงกิจวัตรประจำวันที่เด็กๆ ทำเป็นประจำ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว หรือเรียนหนังสือ เป็นต้น 

และเมื่อเด็ก ๆ เริ่มคุ้นกับการเรียกสิ่งของ สถานที่ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยภาษาจีนแล้ว ก็ค่อยให้เด็ก ๆ เริ่มท่องศัพท์เหล่านั้น โดยผู้ปกครองอาจจะชี้ไปที่สิ่งของนั้น ๆ พูดคำภาษาไทย หรือเป็นแฟลชการ์ดรูปภาพ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทายคำศัพท์ แถมยังเป็นการฝึกพูดภาษาจีน และการจดจำศัพท์ให้แม่นยำไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย 

หลังจากที่เด็ก ๆ สามารถฝึกพูดภาษาจีน และจดจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้แล้ว ผู้ปกครองก็ค่อยเริ่มให้เด็ก ๆ หัดเขียนคำศัพท์ โดยเริ่มจากคำที่มีตัวอักษรภาษาจีนที่เขียนง่าย เพราะถ้าหากเด็ก ๆ เริ่มเขียนคำที่ยาก หรือมีความซับซ้อน อาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่ามันยาก หรือเขียนไม่ได้ จนรู้สึกว่าไม่อยากทำ และหมดกำลังใจที่จะฝึกพูดภาษาจีนได้

ฝึกภาษาจีน

2. ทำแฟลชการ์ดรูปภาพ

การทำแฟลชการ์ดรูปภาพ เป็นเทคนิคการฝึกพูดภาษาจีนที่นำรูปภาพมาช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ และยังเป็นตัวช่วยเสริมที่จะทำให้เด็ก ๆ จดจำศัพท์ได้รวดเร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น เพราะว่าเด็ก ๆ นั้นสามารถจดจำคำศัพท์ที่เป็นรูปภาพได้ดีกว่า โดยวิธีการทำแฟลชการ์ดนั้นจะใช้กระดาษแข็งมาตัดเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังจากนั้นจึงนำรูปของคำศัพท์ต่างๆ ที่ต้องการจะให้เด็ก ๆ จำมาติดไว้ด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งของแฟลชการ์ดนั้นก็จะเขียนเป็นคำศัพท์ และคำแปลของรูปนั้นๆ ลงไป หรือว่าจะพรินต์รูปภาพสิ่งของต่างๆ ลงในกระดาษ และนำมาตัดแบ่งทีละรูป แล้วจึงค่อยเขียนคำศัพท์ และคำแปลลงไปก็ได้เช่นกัน 

โดยวิธีการฝึกพูดภาษาจีนด้วยแฟลชการ์ดภาพนั้นนอกจากจะช่วยให้เด็กๆ เพลิดเพลินไปกับการเรียนภาษาจีน และจดจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำแล้ว ยังสามารถนำไปเป็นของเล่น เพื่อให้เด็ก ๆ ได้นำไปเล่นกับเพื่อนได้ แถมยังช่วยให้เด็กๆ สนุกสนาน และเพิ่มความจำได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

หัดพูดภาษาจีน

3. ร้องเพลงภาษาจีนสำหรับเด็ก

การร้องเพลงภาษาจีนสำหรับเด็ก เป็นเทคนิคการฝึกพูดภาษาจีนที่นำเสียงเพลงมาช่วยให้เด็กๆ มีความสนุกสนานกับการฝึกพูดภาษาจีนมากขึ้น เพราะว่าการให้เด็กๆ ร้องเพลง และฟังเพลงภาษาจีนสำหรับเด็กนั้นจะช่วยให้เด็กๆ มีทักษะในการพูด และทักษะในการฟังที่ดีขึ้น ซึ่งทักษาในการฟังก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญในการเรียนภาษาจีน เพราะว่าการฟังภาษาจีนให้ทัน และแปลให้ออกนั้นก็เป็นอีกสิ่งสำคัญในการฝึกพูดภาษาจีน แต่ว่าจะให้เด็กๆ ไปฟังคนจีนพูดตั้งแต่เริ่มฝึกพูดก็คงจะไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะว่าคนจีนมักจะพูดเร็ว และเด็กๆ อาจจะฟังไม่ทัน หรือจับใจความไม่ได้ จนทำให้แปลไม่ออก หรือกลัวที่จะเรียนภาษาจีน ดังนั้น การให้เด็กๆ เริ่มฝึกจากการฟังเพลง และร้องเพลงจีนสำหรับเด็กแบบง่ายๆ ก็จะช่วยให้เด็กๆ คุ้นชินกับจังหวะการพูดมากขึ้น ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะไม่สามารถฟังได้ทัน หรือแปลออกได้ในช่วงแรก แต่ก็จะช่วยให้เด็กๆ ซึบซับทั้งคำศัพท์ วิธีการพูด และการแยกแยะคำต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น

4. พาเด็กลงสนามจริง ฝึกสนทนากันคนจีน

หลังจากที่เด็กๆ ได้ฝึกพูดภาษาจีน และฝึกทักษะอื่นๆ ด้วยเทคนิคการฝึกพูดภาษาจีนตั้งแต่เทคนิคที่ 1 จนถึงเทคนิคที่ 3 แล้ว ก็จะช่วยให้เด็กๆ มีความคุ้นชินกับภาษาจีนในระดับหนึ่ง ดังนั้น เทคนิคต่อไปที่จะช่วยให้การพูดภาษาจีนของเด็กๆ นั้นดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด นั่นก็คือ การให้เด็กๆ ได้ฝึกสนทนากับคนจีน เพราะการฝึกภาษาที่ดีที่สุดก็คือการนำมาใช้จริง หรือได้พูดคุยสนทนาจริงๆ นอกจากนั้นการฝึกพูดภาษาจีนด้วยเทคนิคนี้ยังช่วยให้เด็ก ๆ มีความกล้าที่จะพูดคุย และกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองต้องให้กำลังใจเด็กๆ อยู่เสมอว่าไม่ต้องกลัวว่าจะพูดถูก หรือผิด เพราะเด็กๆ บางคนกลัวว่าพูดผิดแล้วจะมีคนล้อนั่นเอง

ถ้าหากเด็ก ๆ พร้อมที่จะฝึกสนทนากับคนจีนแล้ว ก็ควรจะเรียนรู้ประโยคแนะนำตัวพื้นฐาน เพื่อที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง รวมถึงผู้ปกครองที่จะต้องหาสถานที่ที่มีคนจีน เพื่อพาเด็ก ๆ ไปลงสนามจริง

ประโยคแนะนำตัวพื้นฐานง่าย ๆ

การฝึกพูดภาษาจีนด้วยประโยคแนะนำตัวพื้นฐาน เป็นการเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้ฝึกพูดเป็นประโยคแบบง่าย ๆ ที่สามารถจำได้ง่าย พูดง่าย และสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่สิ่งที่สำคัญในการพูดเป็นประโยค คือ ผู้ปกครองควรให้เด็กๆ ฝึกพูดบ่อย ๆ เพื่อให้คุ้นชิน และสามารถพูดได้คล่องปาก โดยตัวอย่างประโยคแนะนำตัวพื้นฐานที่เด็ก ๆ ควรฝึกพูดไว้ มีดังนี้

  • 你好!我 叫 ….. nǐ hǎo wǒ jiào ….. (หนีห่าว หว่อ เจี้ยว …..) แปลว่า สวัสดี ฉันชื่อ …..
  • 我 ….. 岁了 Wǒ …. suìle (หว่อ …. ซุ่ย เลอะ) แปลว่า ฉันอายุ …. ปี
  • 我是泰国人 Wǒ shì tàiguó rén (หว่อ ชื่อ ไท่กั๋ว เหริน) แปลว่า ฉันเป็นคนไทย
  • 我会说汉语 Wǒ huì shuō Hànyǔ (หว่อ ฮุ่ย ชัว ฮ่านหยู่) แปลว่า ฉันพูดภาษาจีนได้
  • 认识你很高兴!Rènshí nǐ hěn gāoxìng (เริ่นชื่อ หนี่ เหิ่น เกาซิ่ง) แปลว่า ยินดีที่ได้รู้จัก
ตัวช่วยฝึกภาษาจีน

5. หาตัวช่วยฝึกภาษาจีน

การหาตัวช่วยฝึกภาษาจีน เช่น เรียนคอร์สฝึกพูดภาษาจีน ที่เป็นเทคนิคการฝึกพูดภาษาจีนที่ผู้ปกครองหลายๆ คนเลือกใช้ เพราะว่าเป็นเทคนิคที่สามารถเห็นพัฒนาการ และทักษะภาษาจีนของเด็กๆ ได้ชัดเจน โดยในปัจจุบันนั้นมีคอร์สเรียนภาษาจีนให้เลือกอย่างหลากหลาย และเป็นคอร์สที่สามารถช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารภาษาจีนของเด็ก ๆ ได้อย่างก้าวกระโดด และถ้าหากเรียนคอร์สฝึกพูดภาษาจีนตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้มากยิ่งขึ้น และถ้าหากผู้ปกครองคนไหนกำลังมองหาคอร์สเรียนภาษาจีนสำหรับเด็ก ที่ Speak Up รับสอนเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 2.5 ปี ถึง 12 ปี ด้วยการประยุกต์ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) และทำการสอนโดยคุณครูมืออาชีพที่มีประสบการณ์ และเทคนิคในการสอนภาษาเด็กเล็ก ที่พร้อมจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาจีนอย่างสนุกสนาน และสามารถนำไปใช้ได้จริง

สรุป

การฝึกพูดภาษาจีน หรือการฝึกทักษะภาษาจีนด้านอื่นๆ นั้นสามารถส่งผลให้ตัวของเด็กๆ ได้รับโอกาสทั้งด้านการเรียน และด้านการทำงานมากกว่าคนอื่นๆ เพราะว่าในปัจจุบันนั้นคนเริ่มหันมาใช้ภาษาจีนกันเยอะมากขึ้น และประเทศไทยนั้นก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน จึงทำให้ผู้ที่พูดภาษาจีนได้ก็จะได้เปรียบมากกว่าคนอื่นๆ และถ้าหากเด็กๆ ได้ฝึกพูดภาษาจีนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะทำให้สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ และพูดได้คล่องแคล่วกว่า ดังนั้น ภาษาจีนจึงเป็นอีกตัวเลือกทางด้านภาษาที่เด็กๆ เรียนไว้ก็จะดีกับตัวของเด็ก ๆ เองเป็นอย่างมาก

แฟลชการ์ด ภาษาจีน

เทคนิค "แฟลชการ์ดภาษาจีน" ไอเทมช่วยฝึกภาษา ท่องง่าย ได้ผลจริง

แฟลชการ์ดภาษาจีนเป็นหนึ่งเทคนิคในการฝึกภาษาจีนที่ทำให้ท่องจำได้เร็วและได้ผลอย่างดีเยี่ยม  ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในนักเรียนหรือผู้ที่กำลังศึกษาภาษาจีนอยู่ 

วันนี้ SpeakUp มีวิธีในการทำแฟลชการ์ดมาฝากกันในบทความนี้ สำหรับใครที่กำลังเรียนภาษาจีนหรือเริ่มสนใจจะเรียนภาษาจีนด้วยตนเอง การมีคลังคำศัพท์เป็นความรู้ไว้มาก ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ในอนาคต 

แล้วแฟลชการ์ดคืออะไร? บางคนอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าจริง ๆ มันคืออะไร แฟลชการ์ดจะช่วยฝึกท่องจำศัพท์ได้อย่างไร? ในบทความนี้ SpeakUp จะมาช่วยตอบคำถามคลายข้อสงสัยให้เอง นอกจากนี้ SpeakUp จะสอนวิธีการทำแฟลชการ์ดภาษาจีนให้ในบทความอีกด้วย

แฟลชการ์ด คือ

แฟลชการ์ด (Flash Card) คืออะไร?

แฟลชการ์ดหรือการ์ดคำศัพท์ เป็นอุปกรณ์ช่วยจำ มีลักษณะเป็นแผ่น ๆ เหมือนการ์ด บนแผ่นจะมีคำศัพท์เขียนเอาไว้ ซึ่งเป็น 1 ในเทคนิคที่ช่วยในการท่องจำคำศัพท์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ

ไม่ได้มีแค่การนำมาใช้ท่องจำคำศัพท์จากภาษาต่าง ๆ แต่แฟลชการ์ดยังสามารถนำมาใช้ท่องจำวิชาอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น สูตรเคมี หรือวันเดือนปีสำคัญทางประวัติศาสตร์
เป็นเทคนิคท่องจำที่สะดวก สามารถพกพาในกระเป๋าเล็ก ๆ ไปด้วยได้ มีความท้าทายในการทดสอบคำศัพท์ ต่างจากการท่องจำแบบเดิม ๆ อย่างชีทคำศัพท์หรือหนังสือที่มีคำศัพท์มากกว่า 50 คำใน 1 หน้า แค่เห็นก็ตาลายแล้ว หลายคนยังพูดเกี่ยวกับการใช้แฟลชการ์ดอีกว่า นอกจากจะช่วยทำให้จำคำศัพท์ได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้รู้สึกสนุกไปกับการท่องคำศัพท์อีกด้วย

จำศัพท์ภาษาจีนด้วยแฟลชการ์ดดีกว่าการท่องจำทั่วไปยังไง

โดยปกติแล้วการท่องจำคำศัพท์เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา ความสม่ำเสมอ และความพยายามเป็นอย่างมากอยู่แล้ว กว่าจะจำคำศัพท์ให้ได้หลายคำ ซึ่งหากไม่มีเทคนิคหรือตัวกระตุ้นในการช่วยเสริมความจำ ก็จะยิ่งต้องพยายามอีกหลายเท่าตัว

ผู้ที่เพิ่งเริ่มเรียนหรือกำลังเรียนภาษาจีนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาษาจีนนั้นมีตัวอักษรที่จำได้ยากกว่าภาษาอื่นมาก ด้วยตัวอักษรที่มีความซับซ้อนเป็นเอกลักษณ์ของภาษาจีน ดังนั้นจึงต้องมีตัวช่วยในการฝึกภาษาจีน ช่วยจำคำศัพท์ โดยเทคนิคก็มีมากมาย ตามที่แต่ละคนถนัด

ซึ่งแฟลชการ์ดภาษาจีนก็เป็นวิธีที่เป็นที่นิยมและได้ผลดี เพราะมีลูกเล่นที่สามารถช่วยฝึกไหวพริบและช่วยกระตุ้นความจำได้ดี ในบางทียังสามารถนำไปประยุกต์เป็นเกมทายคำไว้เล่นกับเพื่อนได้ด้วย ทั้งสนุก ทั้งได้จำคำศัพท์มากขึ้นไปในตัว

หลักการของแฟลชการ์ดคือการท่องจำย้ำๆ ซึ่งการเห็นคำศัพท์บ่อยๆ สมองก็จะกระตุ้นให้จำคำศัพท์ได้ในระยะยาว ต่างจากการท่องจำศัพท์เดิมๆ ที่อาจทำให้จำได้แค่ในระยะสั้น ผ่านไปสักระยะก็จะลืมได้

ทำแฟลชการ์ดภาษาจีนง่าย ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

แฟลชการ์ดภาษาจีนนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน มีทั้งการทำแบบกระดาษและแบบดิจิทัล โดยในส่วนนี้ทาง Speak Up ได้นำวิธีการทำแฟลชการ์ดภาษาจีนทั้ง 2 แบบ มาให้ลองทำกันง่าย ๆ

ทำแฟลชการ์ดภาษาจีนแบบกระดาษ

ที่พูดได้ว่าง่ายนั้น เพราะว่ามีแค่เพียง 4 ขั้นตอน แถมขั้นตอนนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน ทำเสร็จก็เริ่มท่องศัพท์ได้ทันใจ โดนขั้นตอนจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย

ก่อนอื่นเรามาทราบอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องเตรียมก่อนเริ่มทำกันก่อนทำแฟลชการ์ดภาษาจีนกันเถอะ

  • กรรไกรตัดกระดาษ
  • กระดาษ ซึ่งควรเป็นกระดาษทึบ ไม่บางเกินไป กระดาษที่ควรนำมาใช้ เช่น กระดาษอาร์ต กระดาษปอนด์ กระดาษเหนียว หรือ Kraft paper กระดาษลูกฟูก กระดาษกล่อง กระดาษพีวีซี
  • ปากกา ดินสอ สำหรับเขียนคำศัพท์
  • หนังยาง หรือห่วงวงกลม (กรณีทำแฟลชการ์ดแบบห่วง)

หลังจากนั้นมาเริ่มขั้นตอนสำหรับทำแฟลชการ์ดภาษาจีนแสนง่ายด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. แบ่งกลุ่มคำศัพท์ที่ต้องการท่องจำออกเป็นกลุ่มย่อย และแบ่งตามระดับความจำ เพื่อให้คำศัพท์ที่ง่ายและยากคละกันไป เลือกใช้คำศัพท์ที่พบบ่อย ๆ ใช้ได้บ่อย หรือเลือกประโยคที่ต้องการพร้อมคำแปล
  2. ตัดกระดาษให้เท่า ๆ กัน ซึ่งหากใช้กระดาษขนาด A4 ให้แบ่งออกเป็น 8 แผ่น หรือ 16 แผ่น เท่ากัน ๆ ควรเลือกกระดาษที่ไม่บางจนเกินไป ให้ใช้กระดาษทึบหน่อย เพื่อไม่ให้มองเห็นทะลุไปด้านหลังที่เป็นความหมายของคำศัพท์
  3. เขียนคำศัพท์หรือประโยคภาษาจีนที่เตรียมเอาไว้ลงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วนำความหมายไว้อีกด้านหรือจะทำเป็นแบบรูปภาพก็ได้
  4. นำกระดาษคำศัพท์ทั้งหมดมารวมกัน แล้วแบ่งกลุ่มตามคำศัพท์ที่จัดเอาไว้ แล้วมัดแผ่นแฟลชการ์ดรวมเข้าด้วยกันด้วยหนังยาง หรือทำให้แข็งแรงขึ้นหน่อยด้วยการเจาะรูที่กระดาษแล้วเอาห่วงมาร้อย เลือกทำตามความชอบได้เลย

บางคนอาจจะรู้สึกว่าแฟลชการ์ดภาษาจีนมีวิธีการทำที่ยุ่งยากหรือไม่มีเวลาทำ ก็สามารถหาซื้อแแฟลชการ์ดสำเร็จรูปได้ที่ร้านเครื่องเขียนทั่วไปได้ จริง ๆ แล้วแฟลชการ์ด ถ้าเป็นในต่างประเทศจะมีแฟลชการ์ดแบบสำเร็จรูปขายอยู่มากมาย ตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านสะดวกซื้อบางที่ก็มีขายเช่นกัน ซึ่งหลัง ๆ ก็เริ่มมีแฟลชการ์ดสำเร็จรูปมาขายในไทยแล้ว

ทำแฟลชการ์ดภาษาจีนบน Application

นอกจากแฟลชการ์ดภาษาจีนทำมือแล้ว แฟลชการ์ดภาษาจีนยังสามารถทำบนแอฟพลิเคชันได้อีกด้วย เพื่อให้เข้ากับปัจจุบันที่เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าและเข้ามามีบทบาททางการศึกษามากขึ้นด้วย รวมถึงในการทำยังใช้อุปกรณ์อย่างเดียวคือโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลต

เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชันเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแอปพลิเคชันที่สามารถทำแฟลชการ์ดได้ ทาง Speak Up เองมีมาแนะนำให้ทั้งหมด 3 แอปพลิเคชัน

1. Quizlet

แอปพลิเคชันที่เน้นคำศัพท์และความหมาย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในการทำแฟลชการ์ด เพราะเป็นแอปที่ใช้งานง่าย สามารถโหลดเข้าโทรศัพท์เอาไว้ท่องศัพท์ตอนไหนก็ได้ สะดวกรวดเร็วในการทำการ์ดคำศัพท์ภาษาจีน ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android 

โดยวิธีเริ่มต้นในการสร้างแฟลชการ์ดภาษาจีนนั้นก็ง่ายมาก ตามขั้นตอนดังนี้

  • ลงทะเบียนหรือสมัครใช้งาน
  • กดที่ Create เพื่อสร้างชุดของแบบทดสอบ
  • ใส่คำศัพท์กับความหมายภาษาจีนที่ต้องการท่องจำ
  • เมื่อใส่เนื้อหาเสร็จแล้ว ในแอปจะสามารถเลือกรูปแบบในการทดสอบได้ ให้กดไปที่แฟลชการ์ด เป็นอันเสร็จสิ้น

2. Canvas

แอปพลิเคชันที่ขึ้นชื่อในเรื่องของเทมเพลต (Template) สำเร็จรูปที่มีให้เลือกมากมาย ใช้งานง่าย เลือกปรับแต่งได้หลากหลาย รวมถึงมีเทมเพลตสำหรับทำแฟลชการ์ดที่สามารถเลือกตกแต่งได้ตามใจชอบ ให้แฟลชการ์ดภาษาจีนของเราออกมาดูมีชีวิตชีวามากขึ้นได้ด้วย
ขั้นตอนในการสร้างแฟลชการ์ดบน Canvas นั้นก็แสนง่ายตามขั้นตอนนี้เลย

  • ลงทะเบียนหรือสมัครใช้งาน
  • กดช่องค้นหาเทมเพลตสำหรับทำแฟลชการ์ด แล้วเลือกแบบที่ชอบ
  • ใส่เนื้อหาหรือใส่รูปภาพที่ต้องการท่องจำคำศัพท์
  • ดาวน์โหลด แล้วสั่งพิมพ์

3. Goodnote

แอปพลิเคชันเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีนักศึกษาใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นแอปที่มีไว้เพื่อใช้ในการจดบันทึกหรือทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าในแอปมีฟังก์ชันสำหรับทำแฟลชการ์ดอยู่ด้วยเช่นกัน และมีให้ดาวน์โหลดในระบบ iOS แต่ในระบบ Android ยังอยู่ในช่วงพัฒนาอยู่

ขั้นตอนนั้นง่ายมาก ยิ่งใครที่ใช้แอปนี้เป็นประจำอยู่แล้ว รับรองว่าทำตามกันได้แบบชิล ๆ ตามนี้

  • กดสร้างสมุดโน้ตเล่มใหม่ แล้วเลือกเทมเพลตไปที่ Standard หรือ A7 (iPhone)
  • เลือกตรงช่อง “แบบพื้นฐาน หรือ Essentials” เลื่อนไปให้สุดจะเจอคำว่าแฟลชการ์ด
  • กระดาษจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนกับส่วนล่าง ส่วนบนจะเอาไว้ใส่คำศัพท์ ส่วนล่างไว้ใส่ความหมาย
  • สามารถทดสอบคำศัพท์โดยกด 3 จุดที่มุมขวาบน เลื่อนแถบลงมาจะเจอคำว่า “เรียนด้วยแฟลชการ์ด หรือ Study Flashcard” แล้วแอปจะสุ่มคำศัพท์ขึ้นมาให้ทดสอบ
ทำ flash cards ภาษาจีน

แนะนำคำศัพท์/ประโยคภาษาจีนที่พบได้บ่อย

คำศัพท์ภาษาจีนมีมากมายและยากทั้งนั้น สำหรับผู้เริ่มต้นควรเริ่มจากอะไรดีล่ะ? หากเด็กกำลังเริ่มต้นเรียนภาษษาจีน ควรเริ่มจากคำศัพท์และประโยคที่ได้ใช้และพบเจอได้บ่อย โดยทาง SpeakUp มีตัวอย่างคำศัพท์และประโยคภาษาจีนที่พบได้บ่อยมาแนะนำ เพื่อจะได้ลองนำไปใช้กับแฟลชการ์ดคำศัพท์ภาษาจีนของคุณได้ ดังนี้

  • 早 zǎo สวัสดี (ตอนเช้า)
  • 你好 nĭhăo สวัสดี
  • 好久不见 hǎojiǔ bújiàn ไม่เจอกันนานเลย
  • 吃饭了吗 chīfàn le ma กินข้าวยัง
  • 最近怎么样 zuìjìn zěnme yàng ช่วงนี้เป็นไงบ้าง
  • 我们走吧 wǒmen zǒu ba พวกเราไปกันเถอะ
  • 再见 zàijiàn ลาก่อน

และนี่เป็นเพียงตัวอย่างคำหรือประโยคที่พบได้บ่อยในภาษาจีน ซึ่งยังมีอีกหลายคำ หลายประโยคเอาไว้ฝึกภาษาจีน สามารถอ่านคำศัพท์หรือประโยคภาษาจีนเพิ่มเติมได้อีกที่บทความ 33 ประโยคภาษาจีนให้ลูกฝึกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน รู้ไว้ได้ใช้แน่นอน

เริ่มทดสอบความจำ

เมื่อเราได้สร้างแฟลชการ์ดภาษาจีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลานำแฟลชการ์ดมาท่องจำคำศัพท์ ทดสอบความรู้คำศัพท์ภาษาจีน ซึ่งหากต้องการสมาธิก็สามารถท่องคนเดียวได้หรือว่าท่องคนเดียวมันเหงา เริ่มรู้สึกเบื่อขึ้นมา ก็ชวนเพื่อนๆ มาเล่นเกมทายคำศัพท์จากแฟลชการ์ดก็ได้ สลับกันทายกับเพื่อนก็ทำให้รู้สึกสนุกไปอีกแบบ และช่วยให้จำได้มากขึ้นอีกด้วย โดยอาจจะปรับแฟลชการ์ดให้เรียงลำดับการท่องจำจากคำศัพท์ที่ไม่ค่อยได้เจอไว้อันแรกๆ เพื่อให้เจอบ่อยๆ จะได้จำได้มากขึ้น

เพิ่ม-ลดคำศัพท์

ในการท่องจำคำศัพท์ภาษาจีนให้มีประสิทธิภาพ จะต้องเพิ่มคำศัพท์ลงแฟลชการ์ดทุกวัน เพื่อให้มีคลังคำศัพท์มากขึ้น ไมไ่ด้มีเพียงแค่คำที่ง่ายหรือคำที่รู้อยู่แล้ว และควรตั้งเป้าหมายจำนวนคำศัพท์หรือประโยคให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5-8 คำหรือประโยค และคำศัพท์บนแฟลชการ์ดใบไหนที่เราจำได้แม่นแล้ว ก็สามารถแยกออกไปเก็บไว้ต่างหากได้

ท่องเป็นประจำทุกวัน

สิ่งสำคัญนอกจากเทคนิคหรืออุปกรณ์ช่วยท่องจำแล้ว นั่นคือความสม่ำเสมอ การมีวินัยในตนเอง และความพยายามในการท่องจำ ทั้งคำศัพท์และรูปประโยค ควรท่องซ้ำ ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าจำได้แล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีต่อวัน หรือกำหนดเป็นช่วงเวลา เช่น ท่องตอนตื่นนอน 10 คำหรือท่องก่อนนอนให้จำได้แล้วถึงจะนอน เป็นต้น 

สามารถจัดสรรเวลาในการฝึกภาษาจีนที่สะดวกได้เลย เพราะหากในวันรุ่งขึ้นมีสอบ การใช้แฟลชการ์ดท่องจำคำศัพท์ภายในคืนเดียวนั้นก็คงจะช่วยได้ไม่มากนัก การเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ความกดดันน้อยลง และทำให้มีเวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจคำศัพท์หรือประโยคต่าง ๆ ได้ดี

สรุป

แฟลชการ์ดเป็นเทคนิคในการช่วยจำคำศัพท์ที่เป็นที่นิยม เพราะการท่องจำด้วยแฟลชการ์ดนั้นจะส่งผลดีในระยะยาวจากการท่องคำศัพท์ซ้ำ ๆ  ซึ่งแม้ว่าจะมีเทคนิคในการช่วยจำแล้ว การมีวินัยนั้นก็สำคัญ ยิ่งถ้ากำลังจะเริ่มเรียนภาษาจีนหรือกำลังเรียนภาษาจีน การจำคำศัพท์ให้ได้มากที่สุดนั้นจะส่งผลดีเป็นอย่างมากในการเรียนภาษา 

สำหรับเด็กเล็กที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเริ่มเรียนภาษาจีน การใช้แฟลชการ์ดภาษาจีนนั้นจะช่วยให้ลูกนั้นสนุกไปกับการท่องจำคำศัพท์ได้เป็นอย่างดี และทาง SpeakUp รับสอนภาษาจีนสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 2.5-12 ปี ซึ่งปรับรูปแบบการสอนในแต่ละช่วงอายุของเด็ก เพื่อให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัย ประยุกต์ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) โดยคุณครูมืออาชีพที่มีประสบการณ์และเทคนิคในการสอนภาษาเด็กเล็ก

jolly phonics

Jolly Phonics เทคนิคฝึกภาษาให้ลูกอย่างเป็นธรรมชาติ ที่จำง่ายได้ผลดี

Jolly Phonics การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษของเด็ก ๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม ฝึกให้ลูกของคุณสามารถใช้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เฉกเช่นเจ้าของภาษา เน้นการสอนที่สนุกสนาน มีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ฝืนความคิดของเด็ก ซึ่งตรงนี้เป็นตัวช่วยกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของเด็กและกระตุ้นความจำได้เป็นอย่างดี

ผลลัพธ์ในการเรียนภาษาผ่านโปรแกรม Jolly Phonics ช่วยให้เด็กสามารถเรียนภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเก่งเร็วขึ้น ทำให้การเรียนในรูปแบบนี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในหลักสูตรแกนกลางของ
สหราชอาณาจักร และกว่า 150 ประเทศทั่วโลกก็ได้นำ
Jolly Phonics ไปใช้ในการสอนภาษาแก่เด็กเช่นเดียวกัน

jolly phonics คืออะไร

มารู้จัก Jolly Phonics กันก่อนว่าคืออะไร?

Jolly Phonics คือ รูปแบบการการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่การเรียนแบบเดิม ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะ Jolly Phonics ใช้เครื่องมืออย่าง Synthetic Phonics (การสังเคราะห์การออกเสียง) ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญของการเรียนภาษาเข้ามาปรับใช้ในการสอนภาษาให้กับเด็ก เพราะการสอนแบบนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้เสียงจากตัวอักษรแต่ละตัว โดยเริ่มจากการผสมเสียงและค่อย ๆ อ่านคำศัพท์ได้ตามลำดับ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่ส่งเสริม “การเรียนรู้” ไม่ใช่การ “เรียน” (ที่เน้นการท่องจำเพื่อเอาไปสอบ) แบบที่เคยเป็นมา

การเรียนภาษาด้วย Jolly Phonics ยังได้นำเอาการสอนแบบพหุสัมผัส (Multisensory) มาใช้ เพื่อกระตุ้นให้สมองของเด็ก ๆ เกิดการพัฒนาในหลายส่วน บวกกับการนำการเรียนรู้จากเสียง โดยการมองเห็นมาใช้ ทั้งยังมีกิจกรรมสนุก ๆ การร้องเพลง การแสดงท่าทางมาใช้ในเรียนรู้เสียงจากตัวอักษร รวมถึงมีแบบฝึกหัด Jolly Phonics ให้ได้ทำ ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ และยังมีประสิทธิภาพอีกด้วย

เรียนภาษาด้วย Jolly Phonics ดีกว่ายังไง

ผู้ปกครองหลายคนอาจสงสัยว่า Jolly Phonics ดีไหม ต่างจากการเรียนภาษาอย่างที่เคย ๆ เรียนมาอย่างไร แล้วเหมาะไหมที่จะให้ลูกของคุณเรียนภาษาด้วยวิธีนี้ อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า Jolly Phonics เป็นการเรียนที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้เสียงจากพยัญชนะแทนการเรียนแบบที่เราคุ้นเคยก็คือการเรียนตัวอักษร A B C ไปก่อน ค่อยมาเรียนเรื่องเสียง แถมยังเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสนุกๆ อย่างการร้องเพลงและแสดงท่าทางประกอบเสริมความจำและความเข้าใจ

การเรียนภาษาอังกฤษด้วย Jolly Phonics เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่า ภาษาอังกฤษมีตัวอักษรทั้งหมด 26 ตัวและมีเสียง 42 เสียง ซึ่งพวกเขาก็จะได้เรียนเสียงในภาษาอังกฤษทั้งหมดก่อน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าก่อนที่เด็กจะพูดได้ เด็กจะได้ยินพ่อแม่พูด พร้อมแสดงท่าทาง เกิดการเลียนเสียงและท่าทางจากพ่อแม่ จนเกิดความเข้าใจและสื่อสารได้ในที่สุด จะเห็นได้ว่าการเรียนแบบเดิมจะเน้นท่อง A B C เป็นหลัก แล้วจึงค่อยมาสอนการออกเสียงและการผสมคำ ซึ่งเป็นการเรียนที่ฝืนธรรมชาติ ทำให้เด็ก ๆ หลายคนเรียนภาษาอังกฤษไม่ประสบความสำเร็จหรือเห็นผลในการเรียนรู้ช้า

จุดเด่นของ Jolly Phonics ที่ทำให้แตกต่างจากการเรียนแบบอื่น คือการเรียนการสอนที่ไม่น่าเบื่อ นักเรียนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการเรียนที่มองเห็นภาพ ซึ่งสามารถช่วยในการจำเป็นอย่างดี เช่น การออกเสียง /p/ ก็จะมีเพลงที่เป็นจังหวะ พร้อมกับดึงเอาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีการเชื่อมโยงกับเสียงนั้น ๆ เสียงจากตัวอักษร P ก็จะสอนคำว่า Puff ซึ่งคือการเป่า เด็ก ๆ ก็จะได้ร้องเพลงและทำเสียงเป่าไปด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถจดจำวิธีการออกเสียงได้แบบไม่มีวันลืม

jolly phonics เหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไหร่

Jolly Phonic เหมาะสำหรับเด็กอายุเท่าไหร่?

การเรียนด้วยเทคนิค Jolly Phonics สามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ช่วงเตรียมอนุบาลไปจนถึงระดับประถมศึกษา ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการเรียนร้องเพลง ออกเสียงประกอบท่าทางต่าง ๆ และเมื่อโตขึ้นจึงค่อย ๆ พัฒนาความยากขึ้นตามลำดับ เช่น การประสมคำ การสร้างประโยค ไวยากรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ถ้าเป็นไปได้ช่วงที่ควรเน้นเรียนคือช่วง 0-7 ขวบ เพราะเป็นวัยที่กำลังจำได้เก่ง ซึมซับง่าย ซึ่งจะทำให้การเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด

หลักการสอน jolly phonics

หลักการสอนของ Jolly Phonics

การเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้หลักการสอน Jolly Phonics เป็นวิธีการสอนที่ให้ประสิทธิผลที่เป็นที่น่าพึงพอใจ มีเทคนิคการสอนที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน กระตุ้นเด็ก ๆ ให้เกิดความอยากรู้ อยากเรียน ช่วยส่งเสริมการอ่านการเขียนให้กับเด็กตั้งแต่วัยแรกเริ่มกันเลย ทั้งยังมีงานวิจัยออกมาเพื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนโดยใช้ Jolly Phonics กับการเรียนภาษาอังกฤษแบบทั่วไป พบว่าพัฒนาการของเด็กก้าวกระโดดนำหน้าเด็กที่เรียนด้วยวิธีเดิม ๆ 

มาดูกันว่าหลักการสอน Jolly Phonics มีลักษณะอย่างไร ทำไมถึงเป็นหลักสูตรการสอนที่ประสบความสำเร็จ จนโรงเรียนและสถาบันสอนภาษาหลายแห่งทั่วโลกต้องนำการสอนแบบนี้ไปใช้

การเรียนรู้ด้วยเสียงของตัวอักษร

การเรียนรู้ด้วยเสียงของตัวอักษร (Learning the letter sounds) โดยเริ่มแรกเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องเสียงทั้ง 42 เสียงในภาษาอังกฤษก่อน โดยจะแบ่งกลุ่มการออกเสียงออกเป็น 7 กลุ่ม ทั้งแบบ 1 เสียง 1 พยัญชนะ และ 1 เสียง 2 พยัญชนะ โดยไม่เรียงตามตัวอักษร A-Z และกลุ่มการออกเสียงทั้ง 7 มีดังนี้

  1. s, a, t, p, i, n
  2. c k, e, h, r, m, d
  3. g, o, u, l, f, b
  4. ai, j, oa, ie, ee, or
  5. z, w, ng, v, oo (สั้น), OO (ยาว)
  6. y, x, ch, sh, th (voiced), th (unvoiced)
  7. qu, ou, oi, ue, er, ar

การสอนจะเริ่มจากกลุ่มแรกก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่ออกเสียงง่ายสำหรับเด็กเล็กที่ยังออกเสียงได้ไม่ชัด ก็สามารถออกเสียงได้ โดยจะทำให้เด็กเรียนรู้แบบสอดคล้องไปตามพัฒนาการของเขาด้วย และในกลุ่มแรกนั้นก็สามารถผสมคำที่มีความหมายรวมกันแล้วได้ถึง 30 คำอีกด้วย

การเรียนรู้ด้วยการเขียนของตัวอักษร

การเรียนรู้ด้วยการเขียนของตัวอักษร (Learning letter formation) เป็นอีกสเต็ปที่สำคัญ เมื่อเรียนรู้เรื่องการออกเสียงกันไปบ้างแล้ว ก็จะเริ่มมีการฝึกเขียนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องการออกเสียงและการเขียนให้ไปในแนวทางเดียวกัน เด็กจะจำได้เป็นอย่างดี ทำให้การเรียนภาษาเต็มไปด้วยประสิทธิภาพและพัฒนาต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

การผสมเสียง

การผสมเสียง (Blending) จะเริ่มเรียนเมื่อเด็ก ๆ รู้จักเสียงจากอักษรบ้างแล้ว 2-3 คำ ซึ่งพวกเขาจะเริ่มทำการผสมเสียงเพื่ออ่านและเขียนคำใหม่ ๆ ได้

การแยกหน่วยเสียงย่อย

การแยกหน่วยเสียงย่อย (Segmenting) จะเริ่มเรียนเมื่อเด็ก ๆ เริ่มอ่านคำศัพท์ต่าง ๆ ได้แล้ว ซึ่งต้องเริ่มเรียนรู้ควบคู่กันไปกับการผสมเสียง (Blending) เด็กจะต้องทำการแยกแยะ และสามารถบ่งบอกได้ว่าองค์ประกอบด้านโฟนิกส์ใดที่ทำให้การออกเสียงคำเหล่านั้นเป็นเช่นนั้น การเรียนทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไป จะทำให้พวกเขาคุ้นเคยกับการประกอบคำเข้าด้วยกัน และสามารถแยกเสียงย่อยภายในคำได้

คำศัพท์อื่นที่อยู่นอกเหนือจากการผสมเสียง

คำศัพท์อื่นที่อยู่นอกเหนือจากการผสมเสียง (Tricky words) เป็นคำที่อาจชวนให้สับสนว่าออกเสียงแบบไหนกันนะ เพราะไม่ได้ออกเสียงตามหลักโฟนิกส์ ถือเป็นอีกด่านหนึ่งที่ท้าทายสำหรับเด็ก ๆ เลยทีเดียว ในช่วงนี้พวกเขาจะได้เรียนรู้ Tricky words ที่มักจะพบเจอได้บ่อยๆ ยิ่งถ้าเด็กๆ ได้รู้จักคำศัพท์เหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้พวกเขาเก่ง และมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วขึ้นอีกเยอะ

ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาการที่ก้าวหน้า

ไม่ว่าหลักสูตรจะดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดการฝึกฝนก็จะทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง และได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เด็กๆ จึงต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษด้วย Jolly Phonics เป็นหลักสูตรที่ถูกวิจัยและพัฒนาให้เป็นหลักสูตรที่เหมาะสมในการสอนเด็กมากที่สุด เป็นการเรียนที่เด็กๆ จะได้ความสนุก มีส่วนร่วมในการแสดงออก จดจำเรื่องที่เรียนได้แบบง่ายๆ เสริมสร้างการพัฒนาทางด้านภาษาให้ก้าวหน้ากว่าการเรียนหลักสูตรเดิม จนกลายเป็นหลักสูตรแกนกลางในสหราชอาณาจักรและได้รับความสนใจจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

SpeakUp เป็นสถาบันสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนแบบ Jolly Phonics ให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 2.5 – 12 ปี รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) โดยคุณครูมืออาชีพที่มีประสบการณ์และเทคนิคการสอนภาษาเด็กเล็ก ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาด้วยความสนุกสนาน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ ให้เด็กๆ ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง และมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม

สรุป

Jolly Phonics คือ รูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่สอนให้เด็กๆ เรียนรู้การอ่าน เขียนภาษาโดยเริ่มจากการเรียนรู้เสียงของอักษร เพื่อการออกเสียง ผสมคำ และสะกดคำอย่างถูกต้อง แบ่งระดับจากง่ายไปยาก ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ที่การเรียนภาษาแบบเดิมทำไม่ได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดและขาดไม่ได้เลยก็คือ ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กๆ หมั่นฝึกฝนในสิ่งที่เรียนมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเรียนได้รับผลลัพธ์สูงสุดนั่นเอง