fbpx

เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

สารบัญ
เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

การรับประทานอาหารของลูกน้อยนั้น ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เมื่อลูกยังเล็ก ผู้ปกครองยังต้องป้อนให้ก่อน แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น หยิบจับสิ่งของได้ด้วยตัวเองแล้ว ผู้ปกครองควรเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงมาเป็นเลี้ยงลูกแบบ BLW ที่ให้ลูกหยิบอาหารกินเอง เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกเติบโตสมวัยยิ่งขึ้น

บทความนี้จะพาไปรู้จักว่า BLW คืออะไร ควรเริ่มตอนไหน อาหารไหนที่เหมาะสม ข้อดีของ BLW และข้อควรรู้ต่างๆ สำหรับการเลี้ยงลูกแบบ BLW มีอะไรบ้าง ไปดูกันเล

การเลี้ยงลูกแบบ BLW คืออะไร

การเลี้ยงลูกแบบ BLW คือ Baby Led Weaning หมายถึง การเลี้ยงลูกโดยให้ลูกรับประทานอาหารด้วยตนเอง ด้วยการใช้มือหยิบ โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องคอยช่วยป้อนอาหารให้ โดยอาหารจะเน้นไปที่สิ่งที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับเด็กเล็ก เช่น ผักต้ม ไข่ต้ม ผลไม้สุก เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเริ่มจากอาหารที่มีเนื้อสัมผัสที่ละเอียดก่อน แล้วค่อยเพิ่มอาหารที่มีเนื้อสัมผัสแข็งทีละน้อยๆ

ทำไมต้องเลี้ยงลูกแบบ BLW

ปกติแล้วถ้าลูกน้อยมีอายุยังไม่ถึง 6 เดือน ผู้ปกครองมักจะป้อนอาหารนิ่มๆ ที่ผ่านการบดจนละเอียด หรือเป็นอาหารเหลวให้แก่ลูกน้อย แต่เมื่อลูกๆ โตขึ้นก็มักจะกินยาก เคี้ยวยาก อมข้าว ไม่ยอมเคี้ยว หรืออาจจะเคี้ยวไม่เป็น เพราะกินแต่อาหารบดมานาน บางครั้งก็มีติดเล่น เลือกอาหาร ไม่ยอมกินให้หมด ทำให้เหล่าผู้ปกครองต่างก็เหนื่อยใจไปตามๆ กัน แต่การเลี้ยงลูกแบบ BLW นั้น จะเป็นการฝึกให้ลูกน้อยได้มีทักษะของการกินอาหารด้วยตัวเอง ช่วยให้ลูกเจริญอาหารมากขึ้น ส่งเสริมพัฒนาการและการเติบโตที่สมวัย แถมยังได้รับสารอาหารที่เพียงพออีกด้วย

เลี้ยงลูกแบบ BLW ได้ตั้งแต่ตอนไหน

หากถามว่าควรเริ่มเลี้ยงลูกแบบ BLW ตอนกี่เดือนดี ก็ควรเริ่มเมื่อทารกมีอายุได้ 6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่เด็กกำลังหย่านมพอดี และยังมีงานวิจัยออกมาอีกว่า ช่วงระยะเวลาที่ลูกน้อยมีอายุครบ 6 เดือน คือช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะฝึกลูกให้ทานอาหารด้วยตนเอง โดยมีข้อสังเกตอยู่เช่นกันว่าควรเลี้ยงลูกแบบ BLW แล้วหรือยัง ดังนี้

  • ลูกสามารถนั่งเก้าอี้ High Chair หรือเก้าอี้ทานข้าวเด็กได้แล้ว
  • ลูกเริ่มควบคุมต้นคอได้ มีคอที่แข็งแรง
  • ลูกเริ่มหยิบจับเอาสิ่งของเข้าปาก
  • ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ของน้ำหนักตอนแรกเกิด
  • ลูกไม่มีอาการดันลิ้นแล้ว ซึ่งเป็นอาการที่มักจะหายไปในช่วงอายุ 4-6 เดือน แต่หากยังมีอาการนี้อยู่ ก็ยังไม่ควรให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง
เลี้ยงลูกแบบ BLW เลือกอาหารแบบไหนดี

เลี้ยงลูกแบบ BLW เลือกอาหารแบบไหนดี

การเลี้ยงลูกแบบ BLW ควรให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่มีเนื้อนิ่ม ละเอียด กลืนง่าย ไม่เสี่ยงต่อการสำลัก โดยจะแบ่งลักษณะอาหารเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ตามการใช้มือจับ ดังนี้

1. Palmar Grasp

เป็นทักษะของเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป ที่มักจะใช้มือจับสิ่งของด้วยอุ้งมือ คือจะใช้ทุกนิ้วในการจับอาหาร และจะกินได้เฉพาะอาหารที่โผล่พ้นออกมาจากมือ ดังนั้นอาหารจึงต้องมีขนาดประมาณนิ้วชี้ของผู้ใหญ่ ซึ่งมีขนาดที่พอดี มีความหนาพอเหมาะ ทำให้ลูกสามารถหยิบจับได้สะดวก

ยกตัวอย่างอาหารได้แก่ กล้วยหั่นครึ่ง กีวีหั่นชิ้น ขนมปังหั่นชิ้น แครอทต้มหั่นชิ้น บรอกโคลีต้มหั่นชิ้น ไข่ต้มหั่นชิ้น ฝรั่งหั่นซีกบางๆ เป็นต้น

2. Pincer Grasp

เป็นทักษะของเด็กวัย 9 เดือนขึ้นไป ซึ่งมักจะหยิบจับของที่มีขนาดเล็กได้ โดยการใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบขึ้นมา คล้ายกับการจับดินสอ จึงทำให้ลูกสามารถหยิบจับอาหารที่มีขนาดเล็กลงกินเองได้ จึงควรหั่นอาหารให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการจับของลูก

ยกตัวอย่างอาหาร เช่น มะละกอหั่นเต๋า มันฝรั่งหันเต๋า กล้วยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เต้าหู้หั่นเต๋า แซลมอนหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ อกไก่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น

สารอาหารแบบไหน เหมาะกับการเลี้ยงลูกแบบ BLW

เลี้ยงลูกแบบ BLW เลือกอาหารแบบไหนดี

เมื่อเลี้ยงลูกแบบ BLW ผู้ปกครองก็ต้องคอยดูสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กที่เพิ่งจะหย่านมด้วย ซึ่งควรมีสารอาหาร ดังนี้

1. ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กมีหน้าที่ในการนำออกซิเจนส่งไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายตามกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ รวมทั้งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในเด็กเล็ก อาหารที่มีธาตุเหล็กและเหมาะจะนำมาเลี้ยงลูกแบบ BLW ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่ ถั่ว เต้าหู้ เป็นต้น

2. โปรตีน

โปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรองรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกและเด็กเล็ก อาหารที่มีโปรตีนและเหมาะจะนำมาเลี้ยงลูกแบบ BLW ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่ ถั่ว เต้าหู้ ชีส โยเกิร์ต ธัญพืช เป็นต้น

3. ไขมัน

ทารกต้องการไขมันเพื่อเป็นพลังงาน เพื่อช่วยดูดซึมสารอาหาร และไขมันบางชนิด เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมอง อาหารที่มีไขมันดีและเหมาะจะนำมาเลี้ยงลูกแบบ BLW ได้แก่ อาโวคาโด เนื้อปลา โยเกิร์ตไขมันเต็ม ชีสไขมันเต็ม น้ำมันมะกอก เนย ไข่ เป็นต้น

4. ผักและผลไม้

ผักและผลไม้เต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสม แถมยังมีกากใยอาหารที่จะทำให้ลูกน้อยไม่ท้องผูกอีกด้วย ผักและผลไม้ที่เหมาะจะนำมาเลี้ยงลูกแบบ BLW ได้แก่ แครอทปรุงสุก บรอกโคลีปรุงสุก ดอกกะหล่ำปรุงสุก มันเทศปรุงสุก มันฝรั่งปรุงสุก บวบปรุงสุก แตงกวา แอปเปิลสุก กีวี อาโวคาโด กล้วย มะม่วงสุก แคนตาลูป แตงโม เป็นต้น

อาหารที่ไม่ควรให้กินเมื่อเลี้ยงลูกแบบ BLW

แม้ว่าการเลี้ยงลูกแบบ BLW ลูกๆ จะสามารถรับประทานอาหารที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ได้หลากหลายชนิด แต่ก็มีบางชนิดที่เป็นข้อยกเว้น ได้แก่

  • อาหารที่มีลักษณะแข็ง เช่น ข้าวโพด ถั่วต่างๆ แป้งตอร์ติญ่า
  • อาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก เช่น ผักดิบ เนื้อดิบต่างๆ
  • อาหารที่มีลักษณะเหนียว เช่น เนยถั่ว
  • อาหารที่เป็นเม็ดกลมๆ มีขนาดเล็ก เพราะอาจจะทำให้ติดคอได้ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอรี่ องุ่น
  • อาหารที่เป็นอันตรายต่อเด็กอายุไม่ถึง 12 เดือน เช่น แอปเปิลดิบ มะเขือเทศราชินี ผลไม้แห้ง ฮอทดอก มั่นฝรั่งทอด พ็อปคอร์น ปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ เป็นต้น

วิธีการกินแบบ BLW

วิธีการเลี้ยงลูกให้กินแบบ BLW นั้นไม่ยาก ผู้ปกครองสามารถให้ลูกฝึกทักษะได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  • เมื่อลูกน้อยถึงวัยที่ควรกินอาหารเสริมนอกจากนมแล้ว ผู้ปกครองต้องเริ่มฝึกให้ลูกนั่งเก้าอี้เด็กที่ใช้สำหรับทานข้าวหรือ High Chair ได้อย่างมั่นคง และเริ่มฝึกให้ลูกใช้มือหยิบอาหารกินเอง
  • ผู้ปกครองต้องเตรียมอาหารให้ลูกแบบไม่ต้องบดหรือปั่น แต่เป็นอาหารนิ่มๆ ที่หั่นเป็นชิ้นๆ ให้ลูกสามารถหยิบกินได้ถนัดมือ ขนาดประมาณนิ้วชี้ผู้ใหญ่
  • เมื่อลูกคุ้นเคยกับการหยิบจับอาหารกินเองแล้ว ก็เริ่มให้อาหารที่คล้ายผู้ใหญ่กินได้ อาจจะปรุงรสนิดหน่อยหรือไม่ต้องปรุงรสก็ได้ แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามและเสี่ยงที่ทำให้ติดคอด้วย
  • เวลาเตรียมอาหารให้ลูกน้อยกิน ควรจัดใส่จานหรือใส่ถาด ล้างมือลูกให้สะอาด ให้ลูกใส่ผ้ากันเปื้อน อาจจะปูพลาสติกกันเลอะที่โต๊ะหรือที่พื้นด้วยก็ได้

เลี้ยงลูกแบบ BLW เลือกอาหารแบบไหนดี

ถ้าจะให้การเลี้ยงลูกแบบ BLW เป็นไปได้อย่างราบรื่น ก็ควรหาอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้ลูกได้มีประสบการณ์ในการรับประทานอาหารเองได้

เก้าอี้นั่ง High Chair

การจะเลี้ยงลูกแบบ BLW สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมีคือ High Chair ซึ่งจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้ดี ผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัย มีเข็มขัดล็อกนิรภัย สามารถปรับระดับความสูงได้ มีถาดอาหารรองรับ และที่สำคัญต้องพอดีกับขนาดตัวของลูกน้อย เก้าอี้กินข้าวเด็กเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะช่วยให้ฝึกลูกนั่งทานอาหารกับคุณผู้ปกครองได้อย่างปลอดภัย

ผ้า Bib กันเปื้อน

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลี้ยงลูกแบบ BLW ก็คือผ้ากันเปื้อน Bib ควรเป็นแบบซิลิโคนที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และควรมีช่องเก็บของขนาดใหญ่ที่ไม่เปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย เพื่อรองรับเศษอาหารที่หล่นลงมา และเพื่อป้องกันเสื้อผ้าของลูกน้อยไม่ให้สกปรกด้วย

ผ้ายางกันเปื้อน

ถ้าอยากจะเลี้ยงลูกแบบ BLW และไม่อยากเหนื่อยจนเกินไป ควรหาผ้ายางกันเปื้อนมารองพื้นหรือโต๊ะเวลาที่ลูกรับประทานอาหารไว้ด้วย เพราะจะช่วยป้องกันเศษอาหารร่วงลงบนพื้นจนความสะอาดได้ยาก

จานข้าว

จานข้าวเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลี้ยงลูกแบบ BLW ซึ่งควรเป็นจานที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เกรดอาหาร ปลอดภัยต่อลูกน้อย ไม่แตกหักง่าย สามารถใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น อาจมีลวดลายการ์ตูนน่ารักๆ เพื่อเชิญชวนให้ลูกอยากอาหารมากขึ้นก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นจานซิลิโคนหรือเป็นสเตนเลสก็ได้

ช้อนฝึกกิน

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการเลี้ยงลูกแบบ BLW ก็คือช้อนฝึกกินนั่นเอง โดยควรเป็นช้อนที่ผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัยเช่นกัน อย่างซิลิโคน และควรมีขนาดที่พอดีกับตัวลูก สามารถรองรับอาหารได้พอเหมาะ มีด้ามสั้น เพื่อลูกจะได้หยิบจับได้ถนัดมือ

แก้วน้ำฝึกดื่ม

สำหรับอุปกรณ์อย่างสุดท้ายที่ควรมีกับการเลี้ยงลูกแบบ BLW ก็คือแก้วน้ำฝึกดื่ม ซึ่งควรผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัย เกรดอาหาร ควรมีที่จับทั้งสองด้าน อาจเป็นแก้วแบบหลอดดูดหรือแบบเปิด ที่ขนาดพอดีกับมือของลูก

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบ BLW

เลี้ยงลูกแบบ BLW เลือกอาหารแบบไหนดี

วิธีการเลี้ยงลูกแบบ BLW มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ เพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างถูกวิธี และให้ลูกได้เติบโตได้อย่างสมวัย มีพัฒนาการที่ดี โดยการเลี้ยงลูกแบบ BLW มีข้อดีข้อเสีย ดังนี้

ข้อดีของ BLW

  • ลูกได้ฝึกทักษะตามวัย : ลูกจะได้ใช้ทักษะต่างๆ ทั้งการหยิบ การจับ การมองเห็น การดมกลิ่น การลิ้มรส การเคี้ยว การทำงานที่ประสานกันของตาและมือ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
  • ลูกได้ฝึกทักษะการจดจำ : ลูกจะได้สัมผัสกับรสชาติและลักษณะของอาหารต่างๆ ซึ่งช่วยในการจดจำว่าอาหารแต่ละอย่างมีหน้าตา ลักษณะ และรสชาติเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาของสมอง
  • ลูกไม่เสี่ยงเป็นโรคอ้วน : เนื่องจากการที่ลูกกินอาหารเป็นมื้อ จะทำให้ผู้ปกครองกำหนดปริมาณและสารอาหารอาหารในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม

ข้อเสียของ BLW

  • อาจทำให้สกปรกเลอะเทอะ : ความสกปรกเลอะเทอะคือสิ่งแรกที่ต้องเจอในการเลี้ยงลูกแบบ BLW เพราะลูกเพิ่งจะหัดกินด้วยตนเอง ดังนั้นเศษอาหารอาจจะหล่นตามพื้น เลอะเสื้อบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ
  • ต้องคอยเฝ้าดู : แม้ว่าลูกสามารถกินข้าวด้วยตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้ปกครองก็ต้องคอยเฝ้าดูว่าลูกสามารถกินอาหารเองได้หมดหรือไม่ มีอาการติดคอหรือสำลักหรือเปล่า เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
  • อาจเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก : ใน 4 เดือนแรก นมแม่จะมีปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปธาตุเหล็กในนมแม่จะลดลง ดังนั้นเมื่อเริ่มให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง ก็ต้องอย่าลืมดูว่าอาหารที่ให้มีปริมาณธาตุเหล็กที่ลูกต้องการเพียงพอหรือไม่อีกด้วย

ข้อแนะนำในการเลี้ยงลูกแบบ BLW ครั้งแรก

  • อย่าใจร้อน : เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ครั้งแรกอาจจะทุลักทุเลสักหน่อย เพราะก้าวแรกย่อมยากเสมอ แต่พอค่อยๆ ให้ลูกหัดกินด้วยตนเองไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเอง
  • อย่าบังคับ : ในตอนแรกๆ ลูกอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับการหยิบจับอาหารกินเอง ผู้ปกครองก็ต้องอดใจไว้ อย่าไปบังคับ พยายามสร้างความสนใจให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาสักหน่อย
  • ปรับเปลี่ยนได้ : ในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่ต้องให้ลูกกินอาหารอย่างเดียว ห้ามดื่มนมเลย อาจมีปรับเปลี่ยนให้ลูกดื่มนมได้บ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อที่ลูกและตัวผู้ปกครองเองจะได้ไม่เครียดเกินไป
  • อาหารต้องนิ่ม ชิ้นต้องเล็ก : ข้อสำคัญในการเลี้ยงลูกแบบ BLW อาหารที่เตรียมนั้นต้องมีลักษณะนิ่ม และชิ้นต้องเล็กขนาดพอดีให้ลูกสามารถหยิบเข้าปากได้ เพื่อป้องกันการติดคอและสำลักด้วย
  • ให้ลูกสนุกกับการกิน : ผู้ปกครองอาจจะหาวิธีต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง อาจจะกินให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือเมื่อลูกกินได้ด้วยตนเองก็ปรบมือชมให้กำลังใจไปด้วยก็ได้

ข้อควรรู้ในการเลี้ยงลูกแบบ BLW

  • ลูกต้องนั่งได้เองก่อน : ลูกต้องรู้จักทรงตัวด้วยตนเองให้ได้ก่อน เพื่อความปลอดภัย
  • ต้องมีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา : เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด เช่น ติดคอ สำลัก เป็นต้น
  • ต้องรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น : เช่น เมื่อลูกติดคอ ต้องรู้วิธีที่จะทำให้เศษอาหารหลุดออกมาอย่างปลอดภัย
  • ไม่ให้ลูกกินอาหารต้องห้าม : เช่น ปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ติดกระดูก อาหารดิบ เมล็ดผลไม้ ไส้กรอก พ็อปคอร์น เป็นต้น
  • มีอุปกรณ์ตัวช่วยสำหรับเด็ก : เช่น เก้าอี้ High Chair ผ้ากันเปื้อน แก้วหัดดื่ม เป็นต้น
  • ลูกอาจจะมีเล่นบ้างกินบ้าง : เป็นธรรมชาติของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจ และไม่บังคับให้ลูกกินอย่างเดียว เพราะอาจจะทำให้เด็กไม่ชอบการกินอาหารด้วยตนเองได้

สรุป

ให้ลูกสามารถกินอาหารเองได้ แยกอาหารได้ด้วยตัวเองจากความคุ้นชิน นอกจากนี้ตัวผู้ปกครองเองก็สามารถควบคุมปริมาณและสารอาหารที่เหมาะสมกับตัวเด็กได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกแบบ BLW ก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังตามที่ได้กล่าวไปในบทความนี้ ผู้ปกครองที่อยากเลี้ยงลูกแบบ BLW จึงควรใส่ใจในจดนี้ให้ดี เพื่อพัฒนาการที่ดี และปลอดภัยในตัวเด็ก

เช่นเดียวกับการเรียนภาษาที่ควรเรียนตามวัย แบบที่ Speak Up สถาบันสอนภาษาสำหรับเด็ก ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่วัย 2.5 – 12 ปี โดยแต่ละวัยก็มีการเรียนการสอนที่ต่างกัน เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ และได้ความรู้อย่างเต็มที่