fbpx

แนวคิด High Scope ตอบโจทย์การสอนเด็กปฐมวัย

สารบัญ
ไฮสโคป

การสอนแบบ High Scope (ไฮสโคป) การเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย

การสอนหนังสือให้กับเด็กนักเรียนนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นเจาะจงไปที่วิชาการ เน้นการประดิษฐ์ทดลอง แต่การเรียนรู้ที่เหมาะสมนั้นควรส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเกิดพัฒนาการทั้งในด้านของอารมณ์ องค์ความรู้ และด้านสังคม ซึ่งการสอนแบบไฮสโคปมีลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมด โดยหลักสูตรไฮสโคปนี้จะเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเองอย่างอิสระ 

บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับการเรียนรู้แบบไฮสโคปที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยในยุคนี้ว่ามีที่มา มีหลักการและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางประกอบการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนการเรียนให้กับเด็ก ๆ

มาทำความรู้จัก High Scope (ไฮสโคป) การเรียนรู้ผ่านการเล่น

ไฮสโคปเป็นรูปแบบการสอนรูปแบบหนึ่งที่มีต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา มีหลักสูตรแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจต์ เป็นการสอนโดยใช้หลักการสร้างความรู้จากการกระทำผสมผสานกับองค์ความรู้ที่วางแผนไว้ เน้นให้เด็กนักเรียนลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างอิสระ 

ซึ่งกิจกรรมที่ทำนั้น เป็นสิ่งที่เด็กนักเรียนเลือกมานำเสนอให้กับคุณครู จากนั้นคุณครูก็จะออกแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ประกอบกับการจัดเตรียมสื่อและอุปกรณ์ให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กเลือกเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และจัดการปัญหาเป็นระบบได้ด้วยดี

3 หัวใจสำคัญของ High Scope (ไฮสโคป) วงล้อการเรียนรู้จากการลงมือทำ

การเรียนรู้แบบไฮสโคปมีวงล้อขับเคลื่อนการเรียนรู้หลักๆ อยู่ 3 วงล้อ ได้แก่ การวางแผน การลงมือปฏิบัติและการทบทวน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

การวางแผน (Plan)

ในขั้นนี้จะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนถึงแนวทางการเรียนรู้ว่าจะจัดการดำเนินกิจกรรมออกมาในรูปแบบใด มีวิธีการเรียนรู้อย่างไร การวางแผนเช่นนี้จะทำให้นักเรียนสนใจในกิจกรรมที่จัดมากขึ้นเพราะตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกความคิดเห็น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กนักเรียนเป็นคนกล้าตัดสินใจ กล้าเสนอความคิดและส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองอีกด้วย

การลงมือปฏิบัติ (Do)

วงล้อการเรียนรู้แบบไฮสโคปอันต่อมาคือการลงมือปฏิบัติตามแบบแผนที่กำหนดร่วมกันไว้ในขั้นแรก นักเรียนจะต้องทำกิจกรรมโดยใช้วิธีการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างอิสระเสรีเพื่อให้กิจกรรมสำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ 

โดยครูผู้สอนสามารถช่วยให้คำแนะนำประกอบได้ตามความเหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้จะส่งเสริมให้เด็กนักเรียนฝึกการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น พร้อมทั้งฝึกใช้ความคิด ฝึกทักษะการสื่อสาร

การทบทวน (Review)

วงล้อของไฮสโคปอันสุดท้ายคือการทบทวน โดยจะเป็นการทบทวนดูว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาให้เห็นนั้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามความต้องการแล้ว เด็กนักเรียนจะมีวิธีการวางแผนใหม่อย่างไร ในขั้นตอนนี้จะเป็นการฝึกการสังเกต ฝึกกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ทั้งยังฝึกการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจอีกด้วย

จุดเด่นของการสอนแบบ High Scope
(ไฮสโคป)

การเรียนรู้แบบไฮสโคปนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบอยู่หลายองค์ประกอบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยบทความนี้จะนำเสนอองค์ประกอบที่เป็นจุดเด่นของการสอนแบบไฮสโคป 7 องค์ประกอบ ดังนี้

1. การมีเด็กเป็นศูนย์กลาง

จุดเด่นแรกของการสอนแบบไฮสโคปคือการมีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนรู้ กล่าวง่ายๆ คือแบบเรียนและกิจกรรมที่ทำจะต้องอิงจากเด็กนักเรียน โดยเป็นการปรึกษากันว่าตัวของนักเรียนมีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องใดบ้าง ต้องการที่จะทำสิ่งใดบ้าง เพื่อที่ว่าเด็กจะได้มีสมาธิและมีความใจจดใจจ่อกับสิ่งที่ตนเองอยากจะทำจริง ๆ

2. พื้นที่และเวลาที่เพียงพอ

จุดเด่นต่อมาของไฮสโคปคือมีพื้นที่และเวลาที่เพียงพอเหมาะสมกับการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเวลาสำหรับการเล่นและการเรียนรู้ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม โดยการมีพื้นที่ที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีพื้นที่ที่น้อยเกินไป เด็กทุกคนอาจจะเรียนรู้ได้ไม่ทั่วถึงกัน ส่งผลให้เด็กวอกแวก ไม่โฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ นอกจากนั้นการควบคุมเวลาให้พอดี จะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้ที่จะแบ่งเวลาเป็นและพยายามรักษาเวลาอีกด้วย

3. สื่อและอุปกรณ์เหมาะสม

สื่อและอุปกรณ์ที่เหมาะสม หลากหลาย และมีจำนวนเพียงพอจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากว่าเด็กจะสามารถเลือกสื่อและอุปกรณ์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ที่จะเลือกสรรอุปกรณ์ให้เหมาะสมเพื่อให้กิจกรรมที่ทำประสบความสำเร็จนั่นเอง

4. การจัดเก็บของ

การเรียนรู้แบบไฮสโคปจะมีการจัดของที่เป็นระบบระเบียบ เพื่อง่ายต่อการเลือกใช้งานในครั้งต่อไป โดยของที่อยู่ในหมวดหมู่ประเภทเดียวกันจะจัดให้อยู่ใกล้ ๆ กัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักแยกประเภทของสิ่งของ จดจำว่าสิ่งใดควรเก็บไว้ตรงไหนบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือการฝึกให้เด็กรู้ว่าเมื่อใช้ของสิ่งใดเสร็จแล้ว ต้องจัดเก็บสิ่งของให้เข้าที่เข้าทางเสมอ

5. ประสาทสัมผัสทั้ง 5

การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กนักเรียนเป็นคนรู้จักช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบกาย ส่งเสริมให้เกิดความสงสัย ใฝ่รู้ และนำไปสู่การลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ซึ่งจะสั่งสมเป็นประสบการณ์ให้เด็กต่อไป

6. การบอกเล่าจากเด็ก

การบอกเล่าจากเด็กนั้นถือเป็นการสะท้อนการสอนที่ดี การสอนแบบไฮสโคปจึงเน้นฟังประสบการณ์ที่นักเรียนเป็นคนพบเจอจากการที่ได้ลงมือทำอย่างอิสระ ซึ่งเด็กจะได้ฝึกการถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อื่นเข้าใจ ฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง และหากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เด็กนักเรียนก็จะเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้นด้วย

7. การได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่

ไฮสโคปต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เนื่องจากการเรียนรู้จะต้องมีอุปกรณ์ สื่อ พื่นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ ดังนั้นการที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ก็จะช่วยให้การเรียนรู้แบบไฮสโคปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

โดยนอกเหนือจากการเตรียมของที่ต้องใช้ในการเรียนแล้ว การเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนของเด็กและการให้กำลังใจก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ เพราะหากสายสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดี บรรยากาศในห้องเรียนก็จะดีตามไปด้วย

ประโยชน์ของการสอนแบบ High Scope
(ไฮสโคป) ที่ได้มากกว่าการเรียนรู้

การสอนแบบไฮสโคปที่เน้นการลงมือทำอย่างอิสระของเด็กนักเรียนนั้นส่งผลให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

  • เด็กให้ความสนใจกับการเรียนมากกว่าปกติ เพราะตนเองมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมที่ทำ
  • การสอนแบบไฮสโคปจะช่วยส่งเสริมทักษะต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียน เช่น ทักษะการคิดเป็นระบบ ทักษะการวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไขปัญหา ทักษะการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ เป็นต้น
  • เด็กนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นทั้งเพื่อนหรือคุณครู เนื่องจากต้องสื่อสารและพยายามช่วยกันทำกิจกรรมให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
  • เด็กนักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ในระยะยาว

สรุป

การเรียนรู้แบบไฮสโคปเป็นการเสริมพัฒนาการให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสมเพราะว่าแกนหลักของหลักสูตรคือการให้เด็กนั้นวางแผนการเรียนรู้ร่วมกับคุณครูว่าต้องการให้การเรียนนั้นเป็นอย่างไร มีกิจกรรมอะไรที่เด็กต้องการจะทำบ้าง ซึ่งเด็กก็จะมีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณครูสอนเนื่องจากเป็นสิ่งที่นักเรียนตัดสินใจเลือกเอง 

โดยการสอนแบบไฮสโคปไม่ได้พัฒนาแค่ด้านสมองเท่านั้น แต่ยังพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วย เพราะตัวเด็กนักเรียนต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา 

ทาง Speak Up Language Center ก็ใช้วิธีการสอนที่อิงมาจากการสอนแบบไฮสโคป โดย Speak Up นั้นเป็นสถาบันสอนภาษาที่มีการใช้สื่อและอุปกรณ์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสมอง ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความสนุกสนาน หลากหลาย ไม่จำเจ ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนมีความอยากเรียนรู้อยู่ตลอด ดังนั้นแล้วหากผู้ปกครองท่านใดสนใจเทคนิคไฮสโคปที่นำมาเสนอ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เผื่อจะนำไปปรับใช้ในการสอนลูกได้เช่นกัน