fbpx

หนูไม่ได้ขี้เกียจ!! ลองใช้ 10 วิธีนี้ รับมือกับปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน

สารบัญ
10 วิธีรับมือกับปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน

หนูไม่ได้ขี้เกียจ!! ลองใช้ 10 วิธีนี้ รับมือกับปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน

เมื่อภาคเรียนใหม่มาถึง ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับศึกหนักจากลูกน้อยที่งอแง ร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ 


ในบทความนี้ Speakup Language จะมาแนะนำให้คุณผู้ปกครองที่กำลังกังวลกับอาการที่ลูกน้อยไม่ยอมไปโรงเรียนได้ทราบว่า สาเหตุที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนมีอะไรบ้าง และควรรับมือ หรือแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร

มารู้จัก School Refusal ภาวะที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนกันก่อน

มารู้จัก School Refusal ภาวะที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนกันก่อน

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal) คือ การที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน หรือต่อต้านการไปโรงเรียน โดยทั่วไปไม่นับว่าเป็นอาการของความผิดปกติที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในทางการแพทย์ แต่ภาวะดังกล่าวนิยมใช้เพื่อจำกัดความถึงปัญหาสภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งมักกระตุ้นให้เด็กๆ แสดงพฤติกรรมเอาแต่ใจออกมา เช่น งอแง ร้องไห้ หรือมีอารมณ์รุนแรง นอกจากนี้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ หรือเกิดความเครียดที่ทำให้เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ จนทำให้หลายครั้ง ผู้ปกครองต้องจำยอมให้หยุดโรงเรียนอยู่บ้าน

ทำไมจู่ๆ โรงเรียนจึงกลายเป็นฝันร้ายสำหรับลูกน้อย

ทำไมจู่ๆ โรงเรียนจึงกลายเป็นฝันร้ายสำหรับลูกน้อย

เด็กหลายคนอาจงอแงไม่ยอมไปโรงเรียน เนื่องมาจากวุฒิภาวะตามช่วงวัย หรืออาจเป็นเพราะเด็กๆ ติดคุณพ่อคุณแม่มากจนไม่อยากไปโรงเรียน ตลอดจนทำไปเพราะต้องการความสนใจ แต่ก็ไม่ใช่กับเด็กทุกคนเสมอไป เพราะบางทีการที่ลูกน้อยร้องไห้ งอแง หรือแสดงออกรุนแรงนั้น ก็อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้โรงเรียนเปรียบเสมือนฝันร้ายของเด็กๆ ที่คุณผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม ได้แก่

ถูกปลูกฝังให้กลัวโรงเรียนโดยไม่ตั้งใจ

หลายครั้ง การที่เด็กไม่กล้าทำ หรือไ่ม่อยากทำอะไร ล้วนมีสาเหตุมาจากการห้ามปราม หรือขู่เล่นๆ ของผู้ปกครอง เช่น “ถ้าดื้อจะให้คุณครูตีเลยนะ” ซึ่งอาจทำให้เด็กกลัวจนไม่กล้าไปโรงเรียน

กลัวคุณครู

คุณครูบางคนอาจมีลักษณะ หรือท่าทีการแสดงออกที่เด็กไม่คุ้นชิน เช่น คนที่บ้านอาจคุยด้วยเสียงไม่ดังมาก เมื่ออยู่โรงเรียนแล้วคุณครูพูดเสียงดังเพื่อให้เด็กทั้งห้องได้ยินอย่างทั่วถึง ก็อาจทำให้ลูกตกใจ ไม่ชอบ หรือกลัว คิดว่าคุณครูดุได้

ถูกเพื่อนแกล้งหรือโดนล้อ

การที่ไปโรงเรียนแล้วโดนเพื่อนแกล้ง หรือโดนเพื่อนล้อ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย หากรุนแรงอาจทำให้เด็กวิตกกังวล และถ้าไม่หมั่นสังเกตลูกน้อยบ่อยๆ ก็อาจร้ายแรงกว่านั้นได้

ไม่มีเพื่อน

เมื่อไปโรงเรียนที่เต็มไปด้วยเด็กคนอื่นๆ แต่กลับไม่มีเพื่อนเล่นด้วย ทำให้ต้องเล่นคนเดียวในขณะที่เด็กคนอื่นๆ เล่นสนุกด้วยกันเป็นกลุ่ม ก็ส่งผลให้เด็กอาจขาดความมั่นใจ หรือรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ หากปล่อยไว้ อาจทำให้เป็นปัญหาระยะยาวในอนาคตได้

สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนไม่เอื้อ หรือส่งเสริมการเรียนรู้และการแสดงออก

เด็กๆ อาจรู้สึกอ่อนไหว หรือถูกกดดันได้ง่ายเป็นพิเศษเมื่อต้องทำตามคำสั่งแทนที่จะได้เล่น หรือทำอะไรแบบที่สบายใจ หรือเมื่ออยู่ในห้องเรียนไม่ได้รับความเอาใจใส่และการส่งเสริมเท่าที่ควร เด็กๆ อาจพาลไม่อยากไปเรียน ไปจนถึงขาดความมั่นใจในการเรียนรู้ได้

เลือกกิน

ผู้ปกครองหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าแค่เรื่องอาหารการกินจะทำให้เด็กงอแงไม่ยอมไปโรงเรียน แต่สำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กแล้วนั้น การกินถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งถ้าเลือกกิน หรือกินยาก แล้วอาหารที่โรงเรียนไม่ถูกปาก ก็จะพาลไม่อยากไปเรียนได้ง่ายๆ

ลองใช้วิธีเหล่านี้รับมือ “ลูกไม่อยากไปโรงเรียน” แล้วลูกๆ จะรักการไปโรงเรียนมากขึ้น

ลองใช้วิธีเหล่านี้รับมือ “ลูกไม่อยากไปโรงเรียน” แล้วลูกๆ จะรักการไปโรงเรียนมากขึ้น

เพียงคุณผู้ปกครองพยายามทำความเข้าใจ ไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนความคิดและความเข้าใจของเด็กๆ เสียใหม่ การไปโรงเรียนก็จะไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวอย่างเคย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

เด็กๆ ต้องพักผ่อนมากเพียงพอ

สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องดูแลให้ดี คือ การจัดเวลาให้เด็กนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอและชัดเจน เพื่อให้พร้อมรับเช้าวันใหม่ที่ต้องไปเรียน แต่ไม่ควรใช้วิธีบังคับหักดิบ เพราะนั่นอาจยิ่งกระตุ้นให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนมากกว่าเดิมได้ 

ทางที่ดี ควรมีการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้รู้ว่าถึงเวลาที่ควรเข้านอนได้แล้วให้เป็นกิจวัตร เช่น การอ่านนิทาน หรือร้องเพลงกล่อม เพื่อให้เด็กๆ เข้านอนอย่างสบายๆ และไม่รู้สึกติดค้างเมื่อตื่นขึ้นมา

ปูพื้นความเข้าใจ โรงเรียนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ผู้ปกครองควรเป็นอีกเสียงที่สนับสนุนการไปโรงเรียนให้เด็กๆ ได้รับรู้ สามารถทำได้โดยการเล่าเรื่องสนุกๆ วัยเด็กของตัวเองให้ลูกฟัง ว่าไปโรงเรียนทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ได้เล่นกับเพื่อน เล่นของเล่นหลากหลาย อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กคุ้นชิน และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์คล้ายๆ กันที่พวกเขาอาจเจอเมื่อต้องไปโรงเรียน

สอนลูกเรื่องการกินและการใช้ชีวิตที่โรงเรียน

ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจเข้าใจผิด คิดว่าส่งลูกไปโรงเรียนก็พอ เดี๋ยวที่เหลือให้คุณครูสอน แต่ในความเป็นจริงนั้น ครอบครัวส่งอิทธิพลอย่างมากในการแสดงออก ตลอดจนความคิดความอ่านของเด็กๆ 

เรื่องเล็กๆ อย่างการกินก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง ถ้าเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนให้กินอย่างถูกต้อง หรือการรอคอย การทำตามคำสั่งด้วยตัวเองก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีเวลาอยู่กับลูกก็ควรให้ความสำคัญและฝึกฝนในเรื่องนี้ เพื่อให้เด็กปรับตัวได้เร็วเมื่อต้องไปโรงเรียน

อยู่เป็นเพื่อนลูกในเวลาที่เหมาะสม

การไปโรงเรียนโดยเฉพาะครั้งแรก ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้เด็กรู้สึกตระหนก แปลกที่แปลกทาง และหวาดกลัว คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่กับลูกสักระยะหนึ่ง เพื่อพาลูกสำรวจพื้นที่โดยรอบโรงเรียนหากสามารถทำได้ เช่น พาลูกไปดูสนามเด็กเล่น พาไปส่งที่ห้องเรียน 

แต่หากไม่สามารถทำได้ ในวันแรกควรแนะนำเด็กไว้กับคุณครูประจำชั้น บุคคลที่เกี่ยวข้อง หรืออาจหาเพื่อนให้ลูก และปล่อยให้ได้ทำความรู้จักกันเอง เพื่อให้เด็กปรับตัวหรือคุ้นเคยกับโรงเรียนได้ง่ายขึ้น และเป็นการเว้นระยะเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ลูกงอแง หรือติดเราจนเกินไป

ไม่โกหกเด็ก

ข้อห้ามที่สำคัญมากๆ คือ อย่า “หลอก” ลูกไปโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น การอ้างหรือยกสิ่งต่างๆ ขึ้นมาล่อ แล้วไม่ทำตามสัญญา แต่ให้คุยกับลูกด้วยความจริง เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้การไปโรงเรียนครั้งต่อๆ ไปยากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าไปโรงเรียน เดี๋ยวตอนเย็นกลับมาจะพาไปกินไอศกรีม แต่ไม่พาไปจริง หรือ เมื่อลูกถามว่าจะมารับเมื่อไหร่ อย่าบอกแค่เพียงว่า “เดี๋ยวแม่มารับ” ให้ลองปรับเปลี่ยนเป็นตารางเวลาที่เด็กจะสามารถจำได้ เช่น “เดี๋ยวตื่นลูกตื่นจากนอนกลางวัน แปรงฟัน กินนม แม่ก็มารับแล้ว” หรือหากเป็นเด็กโตหน่อย อาจบอกให้ลูกรู้เวลาที่แน่ชัดด้วยได้ เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะรอคอย และวางแผนสิ่งที่จะทำในวันนั้นๆ ที่โรงเรียน เป็นต้น

 

สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรปล่อยให้ลูกรอนาน หากมีธุระที่ทำให้ช้ากว่าที่ตกลงกันไว้ ผู้ปกครองควรแจ้งคุณครูให้ทราบ เพื่อที่คุณครูจะได้คุยกับเด็ก หรือหากิจกรรมให้ทำระหว่างรอ

ให้เด็กๆ เล่าเรื่อง

วิธีที่ง่าย และสามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดอีกวิธีหนึ่ง คือ การคุยกับเด็กบ่อยๆ เปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้เล่าว่าในแต่ละวันที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ปกครองอาจเตรียมคำถามหรือเรื่องราวเพื่อชวนคุย อาจเป็นระหว่างทางที่รับลูกกลับบ้าน หรือระหว่างทานข้าวร่วมกัน ให้เขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง

 

และหากสังเกตว่ามีเรื่องอะไรก็ตามที่เหมือนจะเป็นปัญหา เช่น เพื่อนแกล้ง คุณครูเสียงดัง ฯลฯ จะได้หาวิธีการรับมือต่อไปได้ถูกต้อง

หมั่นเติมพลังบวกกับลูกเสมอๆ

การเติมพลังบวกให้ลูกสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะผ่านทางคำพูดชมเชยเมื่อลูกทำได้ดี เช่น ”วันนี้เก่งมากเลย สามารถใส่รองเท้านักเรียนเองได้แล้ว” หรือสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านการกระทำ ไม่ว่าจะเป็น การกอด หอม อุ้ม หรือพาไปทานของอร่อย พาไปเที่ยวเล่น 

หากเด็กๆ กำลังเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ผู้ปกครองควรให้กำลังใจ และพลิกคำเชิงลบทั้งหมดให้เป็นคำเชิงบวก  เช่น เรียนไม่เข้าใจ ให้คุยกับลูกว่า “วันนี้ยังไม่เข้าใจไม่เป็นไรนะ ไว้ลองกันอีกที” ทำกิจกรรมในห้องได้ไม่ดีนัก ให้สอนลูกว่า “ครั้งต่อไปต้องทำได้ดีขึ้นแน่ เพราะมีประสบการณ์แล้ว”

และหากสังเกตว่ามีเรื่องอะไรก็ตามที่เหมือนจะเป็นปัญหา เช่น เพื่อนแกล้ง คุณครูเสียงดัง ฯลฯ จะได้หาวิธีการรับมือต่อไปได้ถูกต้อง

5 กิจกรรมเพิ่มความสนุกในห้องเรียน

อยากให้เด็กรักการไปโรงเรียน ต้องทำห้องเรียนให้สนุก กับ 5 กิจกรรมเพิ่มความสนุกในห้องเรียน

เมื่อเตรียมความพร้อมลูกๆ เรียบร้อย สิ่งสุดท้ายที่จะช่วยให้ลูกไ่ม่งอแง และแก้ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนในครั้งต่อๆ ไป คือ การช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการเรียนสนุก เพราะเด็กหลายคนอาจไม่ชอบใจที่ต้องถูกบังคับให้เรียน ผู้ปกครองสามารถปรับเปลี่ยนความคิดของลูกๆ ได้โดยการฝึกให้ลูกเรียนผ่านการทำกิจกรรมกับลูก ดังนี้

1. กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์

ศิลปะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การวาดรูป ระบายสี การปั้นแป้งโด ทั้งตามคำสั่ง หรือตามจินตนาการของเด็ก ตลอดจนทำงาน DIY ต่างๆ เช่น ตัดกระดาษทำเป็นหน้ากาก หรือตัวละครต่างๆ แล้วนำมาประกอบการเล่าเรื่อง หรือเล่านิทาน ก็จะช่วยฝึกสกิลการเรียนรู้ไปพร้อมกับฝึกกล้ามเนื้อ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กๆ พร้อมที่จะทำกิจกรรมในห้องเรียนจริงได้ด้วย

2. เกมส์ฝึกความจำ

ไม่ว่าจะเป็นการเล่นทายคำศัพท์จาก Flash Card ที่เป็นรูปภาพ หรือ ยากขึ้นมาหน่อยอย่างการเล่น Spelling Bee หรือเกมส์สะกดคำ จะช่วยให้ลูกมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้มากขึ้น มีความกล้าที่จะตอบคำถาม หรือริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อเด็กๆ คุ้นเคยกับการทำตามเงื่อนไขจากการสอนของผู้ปกครองแล้ว เด็กๆ ก็จะจำได้และมีความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงในห้องเรียนนั่นเอง

3. ฝึกการอ่านกับบทบาทสมมติ

การสอนลูกอ่านหนังสือเริ่มง่ายๆ จากการอ่านนิทานให้ฟังก่อนนอน แล้วเด็กๆ จะมีการซึมซับนิสัยรักการอ่าน และหากคุณพ่อคุณแม่มีการปรับให้ลูกๆ ได้มีโอกาสแสดงเป็นตัวละครเอง หรือร่วมเล่าเรื่องด้วย ก็จะสามารถฝึกความคิดสร้างสรรค์และความกล้าแสดงออกที่จะทำให้เด็กๆ มีความสุขเมื่อต้องทำกิจกรรมที่โรงเรียนด้วย

4. กิจกรรมกลางแจ้งต้องไม่ขาด

อย่าสอนลูกอยู่แต่ในบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ลูกได้ออกมารับแดด ขยับร่างกายอย่างเต็มที่ผ่านการออกกำลังกาย  หรือเล่นเครื่องเล่นตามสนามเด็กเล่นบ้าง เพราะจะช่วยให้เด็กๆ ได้ทดลองทำกิจกรรมที่ท้าทาย ฝึกความกล้า และเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กคุ้นชินกับกิจกรรมที่โรงเรียนได้ง่ายขึ้น อาการงอแงหรือความเบื่อหน่าย ไม่ชอบไปโรงเรียนก็จะลดน้อยลง

5. ไม่ปล่อยให้ลูกเรียนรู้คนเดียว

เด็กอาจปรับตัวได้ยากหากพ่อแม่ไม่ปล่อยให้ลูกออกนอกบริเวณที่คุ้นชิน ควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าง เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และขยายสังคมให้ลูก เช่น การพาลูกไปทำ Work Shop ต่างๆ หรือหาพื้นที่ให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน อย่างคลาสดนตรี คลาสเต้น คลาสเรียนภาษา ฯลฯ เพื่อให้พวกเขาพัฒนาทักษะการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับทักษะการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนคนอื่นๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ตลอดเวลา

สรุป

เมื่อลูกร้องไห้หรืองอแงไม่อยากไปโรงเรียน สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือค้นหาสาเหตุ และเตรียมลูกๆ ให้พร้อมตามคำแนะนำที่เราได้ให้ไว้ ทั้งนี้อย่ามัวแต่หาทางแก้ไขจากปัจจัยอื่น แต่ควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้ที่จะพัฒนาระบบความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกของตัวเองด้วย

และหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจอยากให้ลูกได้พัฒนาทักษะทางภาษาควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีในห้องเรียน ทาง SpeakUp Language Center เป็นสถาบันสอนภาษา ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ซึ่งสามารถช่วยให้ลูกของคุณได้ค้นหาตัวเองได้อย่างเป็นอิสระกับครูผู้เชี่ยวชาญ