ปลดล็อคปัญหาลูกพูดน้อย กับ 7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดเก่งอย่างมีพัฒนาการ
วัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การเฝ้ามองพัฒนาการของลูกเป็นกิจวัตรที่คนเป็นพ่อแม่มักจะตื่นเต้นเสมอ เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มที่จะตัวโตขึ้น เริ่มตั้งไข่ หรือเริ่มพูดได้ แต่ถ้าหากว่าลูกของเรามีพัฒนาการบางอย่างที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ก็อาจเริ่มทำให้พ่อแม่หลายคนเกิดความกังวลใจ
หนึ่งในปัญหาหนักอกหนักใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจเลยก็คือ ปัญหาลูกไม่ยอมพูด พูดน้อย หรือมีพัฒนาการเกี่ยวกับการพูดที่ช้ากว่าเด็กคนอื่น ซึ่งปัญหาด้านการพูดเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร เพื่อได้รับการแก้ไขได้อย่างตรงจุด ดังนั้น ในบทความนี้จะมาแนะนำวิธีกระตุ้นให้ให้ลูกพูด รวมถึงบอกสาเหตุ และวิธีแก้ปัญหาที่จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณมีพัฒนาการด้านการพูดที่ดีขึ้น
เด็กจะเริ่มพูดได้ตอนไหน?
พ่อแม่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าพัฒนาการด้านการพูดของเด็กที่เหมาะสมกับวัยมีอะไรบ้าง หลายๆ ครั้งเรื่องการพูดช้า หรือพูดน้อยในเด็กถูกมองข้ามไป เพราะคิดว่าเขายังเด็กอยู่ เดี๋ยวก็พูดได้เอง หรือเด็กมีการพูดบ้าง แต่พูดน้อย สร้างประโยคไม่ได้ พอสื่อสารได้ แต่ไม่เหมาะสมกับวัยของเขา
เพื่อให้พัฒนาการเกี่ยวกับการพูดของลูกน้อยเป็นไปอย่างปกติ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องจับตามองเรื่องการพูดของลูกตั้งแต่วัยทารกกันเลย เพราะในแต่ละช่วงอายุของเด็กก็มีพัฒนาการด้านการพูดที่แตกต่างกันออกไป มาลองตรวจสอบกันดูดีกว่าว่า เด็กเริ่มพูดตอนไหน และลูกของคุณสามารถพูด หรือสื่อสารได้เหมาะสมกับวัยหรือเปล่า
- วัยทารก (แรกเกิด – 1 ปี)
เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 เดือนจะเริ่มมีการตอบสนองต่อเสียงพูดของพ่อแม่ และมีการโต้ตอบกลับด้วยเสียงอ้อแอ้ รวมทั้งสามารถเปล่งเสียงแสดงอารมณ์พอใจ หรือไม่พอใจได้ เช่น หัวเราะ ร้องไห้ ซึ่งการสื่อสารในวัยนี้ พ่อแม่จะต้องพยายามทำความเข้าใจ และแยกแยะให้ออกว่า ร้องไห้เพราะอะไร ง่วงนอน หิว ไม่สบายตัว หรือขับถ่าย เป็นต้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 6 – 12 เดือน ทารกจะเริ่มเข้าใจคำสั้นๆ เวลาบอกว่าไม่ เริ่มออกเสียงเป็นคำที่ไม่มีความหมายซ้ำๆ เช่น บาบา (ba-ba) ดาดา (da-da) หรือมามา (ma-ma) มีการพยายามสื่อสารด้วยภาษากาย ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เริ่มเลียนเสียงการพูดของผู้ใหญ่ และเริ่มพูดคำแรก ซึ่งเป็นโมเมนต์สำคัญที่พ่อแม่เฝ้ารอเลยล่ะ
- วัยเตาะแตะ (1 – 3 ปี)
เมื่ออายุ 12 – 17 เดือน เด็กจะเริ่มใช้คำที่มีความหมายมากขึ้น เรียกพ่อ หรือแม่ และตอบคำถามง่ายๆ ได้ อีกทั้งยังมีการใช้คำ 2 – 3 คำเพื่อเรียกสิ่งต่างๆ พยายามเลียนเสียงคำง่ายๆ ในช่วงนี้การออกเสียงอาจจะยังไม่ชัด เมื่ออายุถึง 18 – 23 เดือน จะเริ่มมีคลังคำศัพท์ที่มากขึ้น เรียกชื่ออาหารที่ทานเป็นประจำได้ เลียนเสียงสัตว์ และเริ่มผสมคำเป็นวลีสั้นๆ เช่น หิวนม กินข้าว เป็นต้น เมื่ออายุครบ 2-3 ปี สามารถใช้คำคุณศัพท์เพื่ออธิบายคำต่างๆ ได้ ตอบคำถามง่ายๆ และเข้าใจคำสั่งที่ยากขึ้นได้ ที่สำคัญการพูดมีความชัดเจนขึ้น สื่อสารรู้เรื่องมากขึ้น และพูดเป็นประโยคที่ยาวขึ้น
- เด็กเล็ก (3 – 5 ปี)
เมื่อเข้าสู่วัยเด็กเล็กช่วง 3 – 4 ปี เด็กจะเริ่มมีการสื่อสารเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะพูดถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเดียว การออกเสียงก็มีความชัดเจนขึ้น บุคคลที่ไม่ใช่พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิดก็สามารถเข้าใจในสิ่งที่เด็กสื่อสารได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 4 – 5 ปี เด็กๆ จะเริ่มเข้าใจคำถามที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงมีการใช้ประโยคที่มีความยาว 8 คำ หรือมากกว่านั้นได้ รวมถึงเริ่มมีส่วนร่วมในการสนทนา
อาการแบบไหนที่บอกว่าลูกของเรากำลังมีปัญหาด้านการพูด
พ่อแม่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอาการที่บ่งบอกว่ามีปัญหาด้านการพูดมีลักษณะเป็นอย่างไร และลูกของเรามีพัฒนาการด้านการพูดปกติหรือเปล่า บางทีการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ วัยเดียว กันอาจจะไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่า อาการใดบ้างที่ควรจับตามองเป็นพิเศษ เพราะอาการเหล่านี้รู้เร็ว สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่าการปล่อยไว้ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก แถมยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตได้
- พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด
- การใช้เสียงผิดปกติ
- อายุ 2 ขวบแล้ว แต่ยังไม่สามารถพูดได้
- ไม่สามารถใช้ประโยคสั้นๆ ในการสื่อสารเมื่อมีอายุ 3 ขวบขึ้นไป
- เมื่อมีอายุได้ 4-5 ปี ไม่สามารถพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวง่ายๆ
บางครั้งปัญหาด้านการพูดอาจเกี่ยวเนื่องกับอาการออทิสติก ซึ่งจะมีอาการแตกต่างจากปัญหาพูดช้า (Speech Delay) อยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไม่สบตา ปัญหาด้านการเข้าสังคม การสื่อสาร เรียกแล้วไม่รับปากแม้จะได้ยินปกติ ไม่ค่อยเลียนแบบเสียง อารมณ์ หรือท่าทาง เป็นต้น
สาเหตุที่ลูกไม่ยอมพูดหรือพูดช้าเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่บ่งบอกว่าลูกมีปัญหาการพูดสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด ไม่กล้าพูด พ่อแม่จึงต้องหาสาเหตุให้เจอว่าเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ที่ทำการพูดของลูกไม่พัฒนาไปตามธรรมชาติและวัยของเขาอย่างเหมาะสม บางรายสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในครรภ์จากการตรวจดูโครโมโซม หากความผิดปกติด้านการพูดเกิดจากสาเหตุของโรคพันธุกรรม
- ความผิดปกติทางการพูด
หากลูกมีอายุ 3 ขวบแล้วแต่ยังไม่สามารถสื่อสารโดยใช้คำได้ ถึงแม้ว่าจะสามารถเข้าใจและสื่อสารแบบอวัจนภาษาได้ หรือสามารถพูดได้แค่คำสั้นๆ แต่มาประกอบเป็นวลีหรือประโยคง่ายๆ ไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกของคุณมีความผิดปกติทางด้านการพูด ในบางกรณีมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านสมองที่ทำให้การเรียนรู้ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุมาจากการคลอดก่อนกำหนด
- ความผิดปกติของการได้ยิน
ถ้าลูกยังพูดไม่ได้ บางครั้งปัญหานี้ก็เกิดจากการได้ยินที่บกพร่อง ซึ่งส่งผลให้เด็กไม่สามารพูดออกมาเป็นคำได้ วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าลูกของคุณมีการได้ยินที่ปกติหรือไม่ พ่อแม่สามารถทดสอบได้โดยการสังเกตว่าลูกมีการตอบสนองเมื่อกล่าวชื่อสิ่งของหรือไม่ หรือตอบสนองต่อท่าทางเท่านั้น
- ขาดการกระตุ้น
การเรียนรู้ที่จะพูดจำเป็นต้องมีทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร โดยมีการโต้ตอบกัน เด็กบางคนขาดการกระตุ้นโดยการพูดคุยกับพ่อแม่ แต่อยู่กับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งวันอาจทำให้เด็กพูดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้แบบปกติ โดยปัจจัยที่ส่งผล คือ การปล่อยปะละเลย การทารุณกรรม และขาดการกระตุ้นให้ลูกพูด
- ความผิดปกติทางสมอง
ความผิดปกติทางสมองเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อบางอย่างที่ส่งผลต่อการพูด เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy)
การบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic brain Injury)
- ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability)
ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาส่งผลต่อการพูดของเด็กที่ช้าลง เพราะเด็กที่มีภาวะนี้จะมีปัญหาด้านทักษะการเข้าสังคมและทักษะภาษาที่ช้า ไม่สมกับวัยของพวกเขา
วิธีไหนที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกพูดเก่งขึ้น
เมื่อรู้แล้วว่าลูกของเรามีความผิดปกติด้านการพูด และมาจากสาเหตุอะไร ขั้นตอนต่อไป คือต้องกระตุ้นการพูดของลูก เด็กที่มีปัญหาไม่ยอมพูด หรือพูดไม่ได้ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองสามารถหากิจกรรมที่กระตุ้นให้ลูกพูดได้ โดยต้องใช้ความพยายาม อดทน ใจเย็น และกระตุ้นให้ลูกพูดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด หลายๆ ครั้ง สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้ามาจากความผิดปกติของร่างกาย หรือมีภาวะออทิสติก ก็สามารถทำการรักษากับคุณหมออย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการกระตุ้นการพูดของลูกที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ได้เลย
โดยในหัวข้อนี้จะมาแนะนำทริคกระตุ้นให้ลูกพูดที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะป้องกันไว้ก่อน หรือกระตุ้นเพื่อให้ลูกพูดได้เป็นปกติเหมาะสมกับวัยของเขา
- พยายามไม่จับผิด
บางครั้งเมื่อลูกต้องการสื่อสารกับเรา ก็ไม่ควรที่จะพยายามคอยจับผิดหรือตัดสินเขา เพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ หรือไม่กล้าที่จะพูดได้ ซึ่งพ่อแม่ควรจะเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าให้ลูกรู้สึกว่าไม่อยากพูดคุยด้วย ถ้าเห็นว่าลูกไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกนึกคิดออกมาได้ดีเท่าที่ควร ก็ควรใช้ความเข้าใจในการพูดคุย
- ให้ลูกได้ตอบคำถามเอง
เมื่อมีคนพยายามพูดคุยและถามคำถามกับลูกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติๆ หรือคนรู้จัก ต้องปล่อยให้เขาได้ตอบคำถาม และพูดคุยกับคนเหล่านี้เอง โดยไม่ต้องไปตอบแทน ผู้ปกครองบางคนเห็นว่าลูกขี้อาย ก็เลยตอบคำถามแทนลูก แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง และพ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรสนับสนุนให้ลูกได้กล้าพูด และกล้าตอบคำถามมากขึ้น
- ให้ลูกได้เลือก
วิธีนี้คือการถามคำถามง่ายๆ ว่าต้องการอะไร โดยการให้ทางเลือก เช่น อยากดื่มนมช็อกโกแลต หรือนมสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กกล้าพูด กล้าเลือก และกล้าแสดงความต้องการของตัวเองออกมา
- ไม่นิยามและเปรียบเทียบ
การที่เราไปนิยามว่าลูกของตนเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่นๆ หรือพี่น้องของพวกเขาเอง เพราะเป็นการกระทำที่ลดความมั่นใจของพวกเขา ดังนั้น จึงควรสนับสนุนพวกเขาด้วยการชื่นชมจะดีกว่า
- หาเวลาพูดคุย
เมื่อมีเวลาว่างควรชวนลูกพูดคุยเรื่องราวที่พวกเขาสนใจ ถามไถ่ และเป็นผู้ฟังที่ดี ที่สำคัญอย่าลืมลองถามคำถามปลายเปิดให้ลูกรู้สึกว่าการสนทนาน่าสนใจมและทุกคนมีส่วนร่วม รวมถึงใช้คำพูดที่ทำให้เขาอยากเล่าสิ่งต่างๆ ให้ฟัง
แนะนำ 5 กิจกรรมที่ช่วยพัฒนาและกระตุ้นการพูดของลูกน้อยได้ดีขึ้น
การทำกิจกรรมร่วมกันนอกจากจะเป็นวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด และเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกในด้านการพูดได้ หากเลือกกิจกรรมที่มีความเหมาะสม และกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการด้านการพูดที่สมวัย มาดูกันว่า มีกิจกรรมอะไรบ้างที่น่าสนใจ ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี
- เกมคำศัพท์
วิธีนี้เป็นการชวนลูกเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ของพวกเขาให้มากขึ้น ซึ่งเกมคำศัพท์สามารถชวนลูกเล่นได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม อาจเป็นการชี้ไปยังสิ่งของต่างๆ รอบตัว และถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้เรียกว่าอะไร หรือใช้บัตรคำที่เป็นรูปภาพก็ได้ สามารถสอนภาษาที่ 2 หรือ 3 ควบคู่กับภาษาแม่ จะช่วยให้เด็กมีทักษะภาษาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
- อ่านนิทาน
การอ่านนิทานเป็นกิจกรรมที่ทุกบ้านควรส่งเสริม เพราะนอกจากจะกระตุ้นจินตนาการแล้ว ยังช่วยให้ลูกๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ผ่านภาพ และเสียงเพิ่มเติมด้วย โดยพ่อแม่อาจลองชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่าน และลองให้พวกเขาเล่าเรื่องราวผ่านจินตนาการของตัวเอง วิธีนี้ช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะการสื่อสารได้มากขึ้นอีกด้วย
- ร้องเพลง
ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ชอบการร้องเพลง พ่อแม่สามารถชวนเด็กๆ ร้องเพลงที่พวกเขาชื่นชอบได้ วิธีจะช่วยให้จำคำศัพท์ได้รวดเร็ว ฝึกการพูดการเปล่งเสียงให้คล่องแคล่ว และยังทำให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออกอีกด้วย
- สอนนับเลข
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่แสนง่าย แต่ได้ผลดี คุณสามารถสอนให้เด็กๆ รู้จักกับตัวเลข โดยการชวนเล่นเกมนับเลข อาจจะนับนิ้วมือ นับขั้นบันได นับจำนวนตัวต่อของเล่น เป็นต้น นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้พูดได้แล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการนับเลขอีกด้วย
- เรียนรู้คำพ้อง
กิจกรรมเรียนรู้คำพ้องจะช่วยขยายคลังคำศัพท์ของเด็กๆ ได้ดี คำพ้องเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กๆ ให้พวกเขาได้ลองนึกคำศัพท์ที่พ้องรูป พ้องเสียง แล้วให้ความหมายที่ถูกต้อง ซึ่งพ่อแม่สามารถเพิ่มเติมเรื่องคำศัพท์และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พวกเขา ดังนั้น การทำกิจกรรมจะช่วยให้เด็กๆ มีทักษะการฟัง และการคิดที่ดีขึ้นได้แบบก้าวกระโดด
สรุป
ปัญหาลูกพูดน้อย ไม่กล้าพูด เป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนกำลังเผชิญ เพราะว่าวัยเด็กเป็นวัยที่สดใส ช่างพูด ขยันถามคำถาม แต่หากลูกของเรากลับเงียบ ไม่ยอมพูดก็คงหนักใจไม่น้อย แต่ปัญหาเหล่านี้ก็สามารถแก้ได้ หากพ่อแม่ใส่ใจ และคอยติดตามดูพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด พร้อมใช้วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด เช่น ชวนลูกมาทำกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกพูดเก่ง เพียงแค่นี้ลูกของคุณก็สามารถมีพัฒนาการที่สมวัยได้ พร้อมออกไปเผชิญโลกกว้างได้อย่างมั่นใจ
หมวดหมู่
- Blog (54)
- Uncategorized (1)
โพสต์ล่าสุด
- เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร
- Leadership คืออะไร และเทคนิคเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีทักษะการเป็นผู้นำ
- ศิลปะการตัดกระดาษจีน กิจกรรมฝึกฝนสมาธิง่ายๆ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรม
- รวม 100 ประโยคกล่าวคำชื่นชมภาษาอังกฤษ ไว้ชื่นชมคนแบบไม่ซ้ำกัน
- รู้จักทฤษฎี Constructivism สอนเด็กให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก