ทักษะ Execution Function คืออะไร สำคัญมากแค่ไหนกับพัฒนาการของเด็ก
การจะช่วยให้ลูกน้อยในช่วงปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับช่วงวัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ Executive Function ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มทักษะที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหลายท่านอาจยังไม่เคยได้ยินชื่อหรือไม่รู้จักเลยก็ตาม
ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ Executive Functionหรือทักษะ EF ว่าคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีความสำคัญหรือมีข้อดีอย่างไร พร้อมบอกวิธีในการพัฒนาทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ในช่วงปฐมวัยอีกด้วย
ทำความรู้จัก Execution Function (EF) ทักษะพัฒนาสมอง
Executive Functions หรือทักษะ EF คือ ทักษะการคิด และการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การพลิกแพลง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการเชื่อมข้อมูลจากความทรงจำในช่วงเวลาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตลอดจนการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากกับคนทุกวัย ทั้งในด้านการเรียนรู้ การทำงาน และการเข้าสังคม โดยทักษะ EF จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนหน้า (PFC: Prefrontal Cortex)
องค์ประกอบของ Execution Function
องค์ประกอบทั้งหมดของ Executive Function จะมีด้วยกันทั้งหมด 9 ด้าน โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มทักษะ ดังนี้
ทักษะพื้นฐาน
ทักษะพื้นฐานของ EF จะมุ่งเน้นไปที่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิดโดยตรง ได้แก่
- Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน)
คือ ความสามารถในการเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ในอดีต และนำมาใช้เมื่อพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันในปัจจุบัน - Inhibitory Control (การยั้งคิดไตร่ตรอง)
คือ ความสามารถในการหยุดคิดก่อนลงมือทำหรือการพูด รวมถึง ความสามารถในการควบคุมความต้องการ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ - Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ความยืดหยุ่นความคิด)
คือ ความสามารถในการปรับใช้ประสบการณ์ในอดีตเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ เช่น การแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน การพลิกแพลง หรือการปรับตัว ตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ
ทักษะกำกับตนเอง
ทักษะกำกับตัวเองของ EF จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตนเอง หรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้แก่
- Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ)
คือ ความสามารถในการจดจ่อและให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่วอกแวกในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือการทำงานให้เสร็จทีละอย่าง นั่นเอง - Emotional Control (ควบคุมอารมณ์)
คือ ความสามารถในการควบคุม การจัดการ และการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น ไม่หงุดหงิดง่ายจนเกินไป ไม่ฉุนเฉียวใส่ผู้อื่น - Self-Monitoring (การติดตามประเมินตนเอง)
คือ ความสามารถในการประเมินหรือรู้ทันจุดที่บกพร่องของตนเอง เพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุง
ทักษะปฏิบัติ
ทักษะปฏิบัติของ EF จะมุ่งเน้นไปที่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการลงมือทำจริง ได้แก่
- Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ)
คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ หลังผ่านกระบวนการคิดและการพิจารณามาแล้ว เช่น การลงมือทำงานทันทีโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง - Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ)
คือ ความสามารถในการมองภาพรวม และจัดสำดับความสำคัญของสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ - Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย)
คือ ความพยายามที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน การฝ่าฟันอุปสรรค ตลอดจนการลุกขึ้นสู้กับปัญหาอีกครั้งหลังจากล้มเหลว เป็นต้น
Execution Function มีความสำคัญอย่างไร
Executive Function มีความสำคัญกับวัยเด็กด้านการเรียนและการใช้ชีวิต เพราะเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจดจำเนื้อหา และการจดจ่อต่อบทเรียน รวมถึงการปรับตัวเมื่อต้องเจอกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และการยับยั้งชั่งใจในการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น การทดลองใช้สารเสพติด การแสดงท่าทางก้าวร้าว เป็นต้น
เริ่มฝึก Execution Function ช่วงอายุไหนดี
การมีทักษะ Executive Function ที่ดีนั้นเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงและจากการรวบรวมประสบการณ์ที่หลากหลาย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเริ่มฝึกทักษะ EF ไวเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยในการทำงานของสมองมากขึ้น จึงควรเริ่มฝึกตั้งแต่ในช่วงปฐมวัยหรืออายุ 3-6 ปี
5 กิจกรรม ส่งเสริม Execution Function
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเสริมสร้างทักษะ Executive Function ให้กับลูกน้อยของตัวเอง สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
ปล่อยให้ลูกเล่นตามอิสระ
การปล่อยให้ลูกเล่นตามอิสระ ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยในการส่งเสริมทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิด การพิจารณา และการจัดการได้ เพราะการเล่นเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ลูกน้อยได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากการลงมือทำ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายกับการเล่นของลูกน้อย
วาดภาพ ระบายสี
ศิลปะถือเป็นอีกสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกให้ลูกทำกิจกรรมวาดภาพและระบายสี เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยได้ใช้ความคิดและจินตนาการอย่างเต็มที่แล้ว การจับดินสอสีมาขีดเขียนเป็นเส้นหรือลวดลายก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้
ฝึกให้ลูกทำงานบ้าน
การฝึกให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะ EF และยังช่วยสร้างระเบียบวินัยให้กับลูกน้อยได้อีกด้วย โดยหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ของเด็กคือจากการเลียนแบบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างให้กับลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเลือกให้ลูกทำงานบ้านง่ายๆ เช่น
- การให้ลูกเก็บของใช้ของตัวเองให้เป็นที่หรือเป็นระเบียบ เช่น การเก็บแปรงสีฟัน การเก็บเสื้อผ้าเข้าที่ การเก็บของเล่นใส่กล่องหลังจากที่เล่นแล้ว เป็นต้น
- การช่วยงานบ้านอื่น ๆ เช่น การยกจานข้าวที่กินเรียบร้อยแล้วไปใส่ในอ่างล้างจาน การเช็ดเศษอาหารที่เลอะบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น
อ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ
การอ่านนิทานให้ลูกฟัง การพูดคุยเกี่ยวกับภาพประกอบของนิทาน หรือการตั้งคำถามกับเนื้อเรื่อง ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยพัฒนาทักษะ EF เช่น ความสามารถในการจดจ่อกับเรื่องที่เล่า ความยืดหยุ่นทางความคิด เป็นต้น นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วย
เล่น Role Play
การเล่น Role Play หรือการเล่นตามบทบาทสมมติ เป็นกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างจินตนาการ ทักษะทางด้านภาษา และทักษะการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถพัฒนากล้ามเนื้อมัดต่างๆ ได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวหรือแสดงท่าทางอีกด้วย เช่น
- การแสดงบทบาทสมมติเป็นอาชีพ เช่น ครู หมอ พยาบาล เป็นต้น
- การแสดงบทบาทสมมติเป็นสัตว์ เช่น กระต่าย แมว เต่า เป็นต้น
4 ข้อดี หากลูกมีทักษะ Execution Function
การฝึกให้ลูกน้อยมีทักษะ Executive Function จะมีประโยชน์มากมาย เช่น
เรียนหนังสือได้เก่ง
การเรียนหนังสือให้เก่งและมีผลการเรียนที่ดีนั้น ประกอบด้วยทักษะหลาย ๆ อย่าง เช่น การจดจำเนื้อหาที่เรียน การมีสมาธิในการจดจ่อกับเรื่องที่เรียน ตลอดจนการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ครบถ้วน และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการฝึกทักษะ EF ในด้านต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนในการเรียนของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
มีพฤติกรรมที่ดี
การฝึกทักษะ EF จะช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เพราะรู้ว่าควรจัดการกับอารมณ์อย่างไรและควรแสดงออกแบบไหนให้เหมาะสม ตลอดจนการยับยั้งชั่งใจเมื่อถูกชักชวนให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้สารเสพติดหรือการขโมยของ
นอกจากนี้การฝึกทักษะ EF ยังช่วยให้สามารถตัดสินใจได้เฉียบขาด กำหนดเป้าหมายและวางแผน และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงช่วยเสริมให้มีลักษณะของการเป็นผู้นำที่ดีอีกด้วย
มีสุขภาพดี
เมื่อทักษะ EF ช่วยให้สามารถตัดสินใจและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จะทำให้ลูกน้อยสามารถเลือกวิธีการดูแลตัวเองได้เหมาะสม เช่น อาหารที่ควรกินหรือควรหลีกเลี่ยง การออกกำลังกาย หรือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษแก่ร่างกาย เช่น สารเสพติด บุหรี่ และแอลกออฮอล์ นอกจากนี้ทักษะ EF ยังช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียดหรือปัญหาได้เป็นอย่างดี จึงช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
ไม่เป็นสมาธิสั้น
เนื่องจากการฝึกทักษะ EF จะช่วยการทำงานของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจดจ่อกับสิ่งต่างๆ หรือการยับยั้งชั่งใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงทักษะในการบริหารจัดการตนเอง จึงเป็นอีกวิธีที่แพทย์นิยมใช้เพื่อรักษาหรือบำบัดเด็กกลุ่มที่มีโรคสมาธิสั้น (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ที่มักมีอาการไม่อยู่นิ่ง ไม่สามารถเก็บรายละเอียด หรือขาดความรับผิดชอบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุป
ทักษะ EF หรือ Executive Function คือทักษะการจัดการและการบริหารสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนหน้า สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มทักษะใหญ่ คือ ทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตัวเอง และทักษะปฏิบัติ การพัฒนาทักษะ EF จะช่วยส่งเสริมทั้งด้านการเรียนและการเข้าสังคมของเด็กปฐมวัยได้ โดยควรเริ่มพัฒนาทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงวัย 3-6 ปี ซึ่งเหมาะที่จะให้เรียนภาษาอย่างยิ่ง ที่ Speak Up ก็มีคอร์สเรียนภาษาสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ ยิ่งเรียนรู้ไว ยิ่งพัฒนาองค์ความรู้ให้ลูกเก่งได้ไว
หมวดหมู่
- Blog (52)
- Uncategorized (1)
โพสต์ล่าสุด
- เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร
- Leadership คืออะไร และเทคนิคเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีทักษะการเป็นผู้นำ
- ศิลปะการตัดกระดาษจีน กิจกรรมฝึกฝนสมาธิง่ายๆ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรม
- รวม 100 ประโยคกล่าวคำชื่นชมภาษาอังกฤษ ไว้ชื่นชมคนแบบไม่ซ้ำกัน
- รู้จักทฤษฎี Constructivism สอนเด็กให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก