รู้จักทฤษฎี Constructivism สอนเด็กให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก
ทฤษฎี Constructivism เป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และฝึกการคิดได้ด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นที่ปรึกษา และคอยให้แนะนำ ซึ่งโดยภาพรวมของทฤษฎีนี้คืออะไร มีแนวคิดการเรียนการสอนมาจากไหน จะสามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน
ทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism คืออะไร?
Constructivism เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นจาก ซีมัวร์ แพเพิร์ต (Seymour Papert) แห่ง มหาวิทยาลัย MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปีพ.ศ. 2539 ประเทศไทยก็ได้มีการจัดเสวนาอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา และทักษะของนักเรียนไทย จึงได้เชิญนักการศึกษา ซีมัวร์ แพเพิร์ต มาเยี่ยมชมโรงเรียน และวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาของไทย ซึ่งพบว่า บางโรงเรียนมีการเรียนการสอนตามหลักสูตรมากเกินไป ทำให้นักเรียนไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จากนั้น จึงได้มีการนำทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism มาทดลองใช้กับโรงเรียนไทย
ทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism คือ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบใหม่ โดยมีแนวคิดสำคัญที่ว่า “ผู้คนสามารถสร้างความรู้ และเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามประสบการณ์ของตัวเอง” เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และครูมีหน้าที่คอยให้คำปรึกษา และคำแนะนำ จนทำให้เกิดการเรียนรู้กันทั้งสองฝ่าย และทำให้นักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครูผู้สอนมากกว่าการเรียนในรูปแบบเดิม
เป้าหมายของทฤษฎี Constructivism มีอะไรบ้าง
ทฤษฎี Constructivism มุ่งเน้นสร้างการเรียนรู้ที่แตกต่าง โดยมีเป้าหมาย และหลักการ ดังนี้
1. ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ตามทฤษฎี Constructivism การฝึกการเรียนรู้ด้วยตัวเองคือการให้นักเรียนสร้าง หรือประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยสามารถต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ก่อนหน้าของนักเรียน ความเชื่อทางสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันจะทำให้นักเรียนได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ต่างกันออกไป
2. เรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก
Constructivism ที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก และครูทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน คือการที่ครูจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม และเพื่อให้นักเรียนเข้าใจได้ดีมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลาย และทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข
3. สร้างความรู้ใหม่จากความรู้ที่มีอยู่
หลักการเรียนรู้แบบ Constructivism ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการนำประสบการณ์ นำสิ่งที่พบเห็นจากสื่อต่างๆ มาเชื่อมโยงกับความรู้ และความเข้าใจที่มีอยู่ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การนำประสบการณ์จากเพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ มาต่อยอดกับความรู้ที่ตนเองมีอยู่
4. ฝึกเรียนรู้หลายสิ่งพร้อมกัน
เป้าหมายของทฤษฎี Constructivism ที่ฝึกให้เรียนรู้หลายๆ สิ่งได้พร้อมกัน โดยหากกำลังเรียนรู้สิ่งหนึ่ง ครูผู้สอนก็จะแทรกความรู้ที่เกี่ยวข้อง หรือที่คล้ายกัน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากนักเรียนกำลังเรียนเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของลำดับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย
5. ฝึกเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วม
การเรียนรู้ตามรูปแบบ Constructivism ที่ฝึกให้เรียนรู้ในการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเหมือนเป็นการร่วมกิจกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเน้นความสำคัญในการเรียนรู้กับผู้อื่น เช่น ครู ครอบครัว หรือเพื่อน จะใช้วิธีการพูดคุย การโต้ตอบ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัว และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานกลุ่ม การทำโครงงาน หรืองานอภิปรายต่างๆ ที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นระหว่างกัน
6. เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว
สำหรับหลักการนี้ ความรู้ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียนเสมอไป แต่ก็ยังเกิดจากนอกห้องเรียนได้อีกด้วย ทำให้ทฤษฎี Constructivism สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เพื่อที่จะทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรียนรู้จากการอ่านหนังสือ เรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตของตนเอง หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรอบข้าง เป็นต้น
7. สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับ ทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism คือการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ อย่างการมีกิจกรรมการเรียนที่หลากหลายรูปแบบ หรือการเล่าเรื่องที่สนุกสนานสอดแทรกไปในบทเรียน เพื่อให้การเรียนไม่น่าเบื่อจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยสร้างความกระตือรือร้น ทำให้ผู้เรียนมีความตื่นตัว และช่วยดึงความสนใจให้กับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กๆ ชอบการ์ตูนเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ครูก็อาจจะแทรกเนื้อหา เกี่ยวกับการ์ตูนลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กๆ ให้หันมาสนใจการเรียนมากขึ้น
ประเภทของทฤษฎี Constructivism มีอะไรบ้าง
ทฤษฎี Constructivism มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทให้เลือกไปปรับใช้ในห้องเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และความรู้ของเด็ก โดยประเภทของทฤษฎี Constructivism ที่นิยมนำไปใช้มีด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้
1. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Constructivism)
ทฤษฎี Cognitive Constructivism เป็นทฤษฎีที่มาจากแนวคิดของ Piaget ที่มีวิธีการเรียนรู้แบบเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และรู้จักสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง พร้อมมีการพัฒนาความรู้ และความเข้าใจไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้ถึงข้อมูลใหม่ๆ โดยสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว และเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมเพื่อปรับให้เข้ากับข้อมูลใหม่ได้ เช่น การที่ครูผู้สอนจัดเตรียมการเรียนการสอนให้นักเรียนได้สำรวจ และลงมือทำบางอย่างด้วยตนเอง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
2. เสริมสร้างการเข้าสังคม (Social Constructivism)
ทฤษฎี Social Constructivism เป็นทฤษฎีที่มาจากแนวคิดของ Lev Vygotsky โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ หรือการทำงานร่วมกับผู้อื่น การโต้ตอบ หรือพูดคุยกับครู เพื่อน และคนในครอบครัว หรือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาแนวคิดให้ต่อยอดเพิ่มมากขึ้น เช่น ครูผู้สอนใช้เทคนิคการสอน ที่ให้นักเรียนได้มีการทำงานร่วมกับผู้อื่น อย่างการทำงานกลุ่ม หรือการทำโครงงาน เป็นต้น และหากเมื่อเกิดปัญหา ครูผู้สอนก็จะคอยให้คำแนะนำ เพื่อให้นักเรียนนำไปปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาของตัวเอง
ทฤษฎี Constructivism มีดีอย่างไร
ข้อดีของ ทฤษฎี Constructivism ในห้องเรียน หลักๆ เลยคือการมุ่งเน้นไปที่หัวข้อที่นักเรียนสนใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ความคิด และการ ตั้งคำถาม ทั้งนี้ การโต้ตอบระหว่างครูกับนักเรียนจะช่วยเสริมการเรียนรู้มากกว่าการนั่งเรียนรู้เนื้อหาเพียงอย่างเดียว และเมื่อนักเรียนทำงานเป็นกลุ่มก็จะช่วยส่งเสริมให้มีส่วนร่วมกับแนวคิดใหม่ๆ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อที่จะช่วยเสริมทักษะ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
ทฤษฎี Constructionism กับขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นตอน
หากครูผู้สอนต้องการนำทฤษฎี Constructionism ไปปรับใช้ในห้องเรียน ควรมีแนวทางในการสอนตามทฤษฎี Constructionism ทั้ง 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 จุดประกายความคิด (Inviting Ideas)
ขั้นตอนตามทฤษฎี Constructionism 5 ขั้น ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างครูกับนักเรียน โดยการที่คุณครูใช้กิจกรรมการตั้งคำถาม หรือการกำหนดสถานการณ์ เพื่อให้นักเรียนใช้ความรู้ ความเข้าใจ จากที่ตนเองมีอยู่ มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และเกิดกระบวนความคิด จนนำไปสู่ความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ
ขั้นที่ 2 ออกสำรวจ (Exploration)
การออกสำรวจภายใต้ทฤษฎี Constructivism ทำได้โดยการที่ครูผู้สอนกำหนดคำถาม หรือสถานการณ์สมมติ และให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น เพราะจะทำให้นักเรียน และครูผู้สอนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นระหว่างกันมากขึ้น
ขั้นที่ 3 นำเสนอความคิด (Proposition)
หลังจากที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ขั้นตอนต่อมาของทฤษฎี Constructionism 5 ขั้น คือการที่ให้นักเรียนได้ลองนำเสนอความคิดจากการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ โดยเสนอความคิดจากสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ หรือสังเกต เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความเข้าใจในการเรียนการสอนหรือไม่
ขั้นที่ 4 มองหาทางออก (Explanation and Solution)
เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนการอธิบายที่ให้นักเรียนสามารถพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนกับครูผู้สอน และครูผู้สอนเองก็สามารถช่วยแก้ไขความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจผิดบางอย่างได้เช่นกัน เพราะการปรับบทเรียนในลักษณะนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจแนวคิด และการเรียนรู้แบบทฤษฎี Constructionism 5 ขั้นมากขึ้น
ขั้นที่ 5 ลงมือทำ (Taking Action)
ขั้นตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนการประเมินผลก็ได้เช่นกัน ที่ให้นักเรียนได้สรุปกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่ระยะการเรียนรู้แรกจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับทฤษฎี Constructionism 5 ขั้น กับการเรียนรู้ โดยสรุปอ้างอิงจาก การโต้ตอบ การอภิปราย และการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวคิด และการพัฒนาได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ทฤษฎี Constructivism กับบทบาทของครูในห้องเรียน
บทบาทของครูในห้องเรียนตามทฤษฎี Constructivism คือครูทำหน้าที่เป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก หรือคอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำชี้แนะให้กับนักเรียนมากกว่าการเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลนักเรียกเพียงอย่างเดียว โดยหน้าที่หลัก คือการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เหมาะสม ให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อแบ่งปันความคิด และประสบการณ์การเรียนรู้ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด และความสามารถในการแก้ไขปัญหา คอยจุดประกายความคิด และกระตุ้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
พร้อมทั้งมีหน้าที่สังเกตพฤติกรรมของนักเรียน และให้คำแนะนำ หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียน ช่วยส่งเสริมความคิดเห็นของผู้เรียน และสรุปผลการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
กรณีตัวอย่างการนำทฤษฎี Constructivism มาใช้ห้องเรียน
กรณีตัวอย่างจากโรงเรียนบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกที่ได้มีการนำ Constructivism มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในระดับชั้นเรียน ป. 3/5 ที่ให้นักเรียนได้มีการทำกิจกรรม ทั้งการร้องเพลง เล่นเกม การทำโครงงาน และการออกไปศึกษาแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น เรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องการคูณ ก็ให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยการเขียนโปรแกรมให้ตัวการ์ตูนขยับ เป็นต้น
โรงเรียนบ้านสันกำแพงได้นำทฤษฎี constructionism 5 ขั้น มาปรับใช้กับการเรียนการสอน ดังนี้
- จุดประกายความคิด (Inviting Ideas) มีการใช้กิจกรรม หรือสื่อมาช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ เพื่อนำไปต่อยอดสู่การหาความรู้ และเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหา
- ออกสำรวจ (Exploration) กำหนดกิจกรรม หัวข้อ เรื่องสถานการณ์ที่น่าสนใจ เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
- นำเสนอความคิด (Proposition) จัดการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดทักษะ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
- มองหาทางออก (Explanation and Solution) เสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจในแนวคิด และแนวทางการเรียนรู้ จนทำให้นักเรียนสามารถสรุปความรู้ที่ได้รับอย่างเป็นระบบ
- ลงมือทำ (Taking Action) ให้นักเรียนฝึกนำเสนอความรู้ และผลงาน โดยเสนอตามความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตนเอง และให้นักเรียนได้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
สรุป
ทฤษฎี Constructivism คือการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากสิ่งรอบข้าง การเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือการที่มีปฏิสัมพันธ์กับครู หรือเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ มีการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่าเดิม และมากกว่าการเรียนรู้จากตำราเรียนเพียงอย่างเดียว หากมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงควรนำมาปรับใช้ในห้องเรียน คงตอบได้ว่าการนำ Constructivism มาปรับใช้ในห้องเรียนจะทำให้เด็กๆ เกิดการพัฒนาทักษะความคิด และการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
โดยทาง Speak Up Language Center สถาบันสอนภาษาสำหรับเด็กเล็ก 2.5 – 12 ปี ก็ได้มีการสอนภาษาแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) เป็นหลักสูตรการสอนที่เน้นความต้องการของเด็กเป็นหลัก พร้อมด้วยสภาพแวดล้อม ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ มีครูที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา คอยช่วยฝึกให้เด็กได้รู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และคอยส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างอิสระ
หมวดหมู่
- Blog (52)
- Uncategorized (1)
โพสต์ล่าสุด
- เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร
- Leadership คืออะไร และเทคนิคเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีทักษะการเป็นผู้นำ
- ศิลปะการตัดกระดาษจีน กิจกรรมฝึกฝนสมาธิง่ายๆ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรม
- รวม 100 ประโยคกล่าวคำชื่นชมภาษาอังกฤษ ไว้ชื่นชมคนแบบไม่ซ้ำกัน
- รู้จักทฤษฎี Constructivism สอนเด็กให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก