fbpx

Learning by Doing คืออะไร ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กๆ ได้ด้วยการลงมือทำ

สารบัญ
learning by doing

Learning by Doing คืออะไร ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กๆ ได้ด้วยการลงมือทำ

ในอดีต การเรียนการสอนถูกจำกัดให้มีเพียงแค่คุณครูสอนนักเรียนตามตำรา เรียนรู้ตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้า แต่เมื่อมาถึงถึงยุคปัจจุบัน รูปแบบการเรียนการสอนได้เปลี่ยนแปลงไป มีอยู่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่การสอนตามตำราในห้องเรียนอย่างเดียว การเรียนรู้ได้สอนให้รู้จักลงมือปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจในเนื้อหามากขึ้น ไปจนถึงการเรียนการสอนนอกห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนได้สนุกสนานไปกับการเรียน มีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียนหนังสือ รวมถึงนักเรียนยังได้ร่วมออกแบบการเรียนที่เหมาะสมกับตนเองได้อีกด้วย

บทความนี้ SpeakUp Language Center จะพาไปทำความรู้จักกับทฤษฎี Learning by Doing ทฤษฎีที่ดีและมีประโยชน์ เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ว่าเป็นทฤษฎีตัวช่วยให้เด็กๆ ได้สนุกกับการเรียนมากขึ้นจากการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ ช่วยทำให้ผลการเรียนออกมาดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ

learning by doing คืออะไร

Learning by Doing คืออะไร

Learning by Doing แปลว่า การเรียนรู้ผ่านการกระทำ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้เชิงรุกโดยอิงจากประสบการณ์ของเด็กๆ ผ่านการกระทำ เพื่อซึมซับแนวคิดต่างๆ ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้มากขึ้นเมื่อลงมือทำกิจกรรมจริงๆ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และมีสรุปผลหลังจากวิเคราะห์การปฏิบัติ

วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญของ Learning by Doing คือการป้องกันไม่ให้นักเรียนลืมความรู้ที่เรียนรู้มาเมื่อเวลาผ่านไป เน้นย้ำผ่านประสบการณ์ แทนที่จะซึมซับแนวคิดผ่านความทรงจำอย่างเดียว นอกจากนี้ยังเป็นแรงจูงใจให้เด็กๆ ได้ศึกษา ค้นคว้าในเรื่องที่สนใจ ก่อนนำไปปฏิบัติจริง จึงทำให้เด็กๆ กระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น ทำให้เกิดความสนุกและมีความสุขในการเรียนมากกว่าที่เคยเป็น

learning by doing ที่มา

แนวคิด Learning by Doing มีที่มาอย่างไร

Learning by Doing คือทฤษฎีที่เกิดจาก จอห์น ดิวอี (John Dewey) ครูชาวอเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งการศึกษารูปแบบใหม่ โดยดิวอีคิดว่าการศึกษาควรจะมีความกระตือรือร้น Learning by Doing เลยยึดตามหลักปรัชญาที่มนุษย์มีการปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด จึงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาให้เป็น ได้รับการเรียนรู้จากการกระทำ จากกระบวนการต่างๆ ของประสบการณ์ที่มนุษย์ต้องได้เจอ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ขั้นปฐมภูมิ ประสบการณ์ใหม่ที่ยังไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ไตร่ตรอง และประเภทที่สองคือ ขั้นทุติยภูมิ ประสบการณ์ที่กลายมาเป็นความรู้ ผ่านกระบวนการทางความคิดไตร่ตรองมาเรียบร้อยแล้ว โดยประสบการณ์ในขั้นปฐมภูมิมักจะเป็นรากฐานของประสบการณ์ในขั้นทุติยภูมิ
หลักการของ learning by doing

หลักการของ Learning by Doing เป็นอย่างไร

ทฤษฎี Learning by Doing คือ การเรียนรู้โดยวิธีปฏิบัติเป็นเทคนิคเชิงรุกที่เน้นการสร้างความรู้ผ่านประสบการณ์และการไตร่ตรองในสภาพแวดล้อมจริงดังที่ได้อธิบายไปแล้ว โดยคำนึงถึงข้อผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดความรู้ขึ้นได้เมื่อมีการลงมือทำ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการทำสิ่งต่างๆ กลายเป็นวิธีการสร้างองค์ความรู้แบบ Learning by Doing

วิธีการสร้างองค์ความรู้แบบ Learning by Doing

จากหลักการของทฤษฎี Learning by Doing คือการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านวิธีการดังต่อไปนี้

การสำรวจ (Explore)

การสำรวจเป็นการสำรวจหรือค้นคว้า เริ่มจากตนเองว่ามีความสนใจในเรื่องใด ระหว่างที่มีการสำรวจก็จะได้ค้นพบกับสิ่งใหม่มากมาย ทำให้เด็กๆ ได้พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ เพิ่มเติม ไปจนถึงการได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากรอบตัวและเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ถือเป็นการสำรวจอย่างหนึ่งเช่นกัน

การทดลอง (Experiment)

การทดลอง เป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่ได้จากขั้นตอนการสำรวจมาเพื่อปรับใช้ไปในรูปแบบที่ต่างออกไป เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นผลลัพธ์ที่ถูกต้องหรือผิดพลาดก็ได้ ถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำมาเป็นความรู้กักเก็บไว้ในสมองต่อไป

การเรียนรู้จากการกระทำ (Learning by Doing)

การเรียนรู้จากการกระทำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการสำรวจ ทดลอง โดยจะต้องลงมือทำ ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้รับการเรียนรู้ผ่านการกระทำนั้นๆ จนสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมาได้

การกระทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (Doing by Learning)

การกระทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ คือการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการกระทำมาต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้อื่นๆ โดยส่วนใหญ่มักจะได้เรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับแต่ละสภาพแวดล้อม การแก้ไขปัญหา การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีได้
ตัวอย่างกิจกรรม learning by doing

ตัวอย่างกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้จากการลงมือทำ

สำหรับ Learning by Doing นั้น แม้จะพูดถึงการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ แต่ก็ยังเป็นแค่ทฤษฎีอยู่ดี การจะให้ทฤษฎีออกมาเป็นรูปธรรมได้ ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติไปในเชิงการทำกิจกรรม โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนหลักการของ Learning by Doing ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำไปใช้ในหลายบริบทมาแล้ว ดังนี้

การทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการเคลื่อนไหว

การทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการเคลื่อนไหว คือหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Learning by Doing ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้รับความเพลิดเพลินเมื่อทำกิจกรรม เพราะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน กิจกรรมนี้ส่งเสริมให้ได้ใช้แรงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความกระฉับกระเฉง เช่น การเล่นกีฬา การเต้น การออกกำลังกาย การผจญภัยผ่านฐานต่างๆ เป็นต้น โดยการเรียนรู้ที่จะได้จากกิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการฝึกและพัฒนาทักษะ ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่เด็กๆ จะสามารถทำได้ดีตั้งแต่ครั้งแรก แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมอย่างการเต้น การเล่นกีฬาบ่อยๆ จากทักษะที่พยายามฝึกฝน ในระหว่างทางอาจจะมีล้มลุกคลุกคลาน ทำได้ไม่ดีบ้าง แต่สุดท้ายเด็กๆ ก็จะเรียนรู้ แก้ไขข้อบกพร่องด้วยการลองทำใหม่อีกครั้งเพื่อให้เกิดความสำเร็จได้

การฝึกทำอาหาร หรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์

การฝึกทำอาหาร หรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ คือกิจกรรมที่เริ่มต้นจากการเรียนรู้ในตำราก่อน เพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งการที่จะทำให้ความรู้ที่เรียนมาเห็นภาพมากขึ้นจึงต้อง Learning by Doing เพราะหากรู้แค่ทฤษฎีอย่างเดียว แต่ไม่เคยได้ฝึกทำอาหาร ฝึกทำขนม หรือทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสารเคมีมาก่อน ถึงเวลาจริงอาจมีการติดขัดหรือทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีพอ การได้ฝึกหรือลองทำมาก่อน จะทำให้ได้เห็นปัญหาว่าผิดพลาดตรงไหน ได้แก้ไขปัญหาในจุดนั้น เมื่อทำเป็นประจำก็จะคล่องมากขึ้น

การฝึกทักษะการสื่อสาร และจัดการอารมณ์ด้วยการเล่นเกม

การฝึกทักษะการสื่อสาร และจัดการอารมณ์ด้วยการเล่นเกม คืออีกหนึ่งกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Learning by Doing ที่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจในเรื่องการสื่อสารและการจัดการอารมณ์ได้ง่ายขึ้น โดยเป็นการใช้เกมเกี่ยวกับการสื่อสาร และเกมเกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เริ่มจากเกมเกี่ยวกับการสื่อสารต้องเป็นเกมที่ส่งเสริมให้เด็กได้เป็นผู้ฟังมากๆ ฝึกให้เป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงจดจำคำพูดเหล่านั้น สามารถตีความคำพูดให้ถูกต้องได้ เด็กได้ลองพูดตามผ่านเกมการสื่อสาร เมื่อมีการสื่อสารจริงจะได้รู้ว่าควรพูดออกไปแบบไหนถึงจะเป็นการสื่อสารที่ดี

ต่อมาเป็นเกมเกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม โดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จำเป็นมากๆ คือการจัดการอารมณ์ เพราะในสังคมเราต้องเจอผู้คนมากมาย หากจัดการอารมณ์ไม่ได้ก็จะเข้ากับผู้อื่นยาก ซึ่งเกมที่มีอยู่ทั่วๆ ไปมักเกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ไม่มากก็น้อย ในทุกเกมมักสอนให้เด็กมีความอดทน มีไหวพริบ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ หากเด็กๆ เข้าใจอารมณ์ของตนเองที่เกิดขึ้นผ่านเกมได้ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแค่เกม ก็จะทำให้เรียนรู้ในการจัดการอารมณ์ นำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้

การทำเวิร์กช็อป หรือการออกสำรวจสถานที่ใหม่ๆ

การทำเวิร์กช็อป หรือการออกสำรวจสถานที่ใหม่ๆ คือกิจกรรม Learning by Doing ที่เกิดขึ้นมาจากความสนใจ อยากรู้อยากเห็น และอยากเรียนรู้ข้อมูลหรือเนื้อหาที่มักไม่ได้มีสอนในตำรา เช่น การทำเวิร์กช็อปสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ อย่างการทำเครื่องปั้นดินเผา การถ่ายภาพ การทำของ D.I.Y ทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมประเภทนี้ จะเป็นการที่เราได้ใกล้ชิดกับผู้คนที่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ หรือไปยังสถานที่ที่สามารถให้ความรู้ได้เพียงแค่การนำเสนอโลกของพวกเขาผ่านเรื่องราวและผลงานต่างๆ ที่ไม่อาจพบเจอบนอินเทอร์เน็ต
ประโยชน์ของการเรียนรู้ learning by doing

ประโยชน์ของการเรียนรู้จากการลงมือทำ

ผลของ Learning by Doing คือ ประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวของเด็ก มีทั้งประโยชน์ในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว รวมถึงด้านอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าคุ้มค่าสำหรับการเรียนรู้ด้วยทฤษฎีนี้ โดยมีประโยชน์ดังนี้

เกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ

เพื่อให้เด็กๆ เห็นภาพและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ง่ายขึ้น Learning by Doing ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ จึงเป็นทฤษฎีที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมหลายอย่างด้วยตนเอง ทำให้ได้เข้าใจเรื่องราวจากกิจกรรม ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พบเจอปัญหา รู้จักการแก้ปัญหา จนซึมซับเป็นความคิดไว้ประยุกต์ใช้ในภายหลังได้

สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น

การเรียนรู้แค่ภาคทฤษฎีเป็นร้อยครั้งไม่สู้การปฏิบัติเพียงครั้งเดียว เพราะ Learning by Doing คือการทำให้เด็กๆ ได้ลงมือทำแบบเห็นภาพชัดเจน เมื่อไม่ต้องคิดภาพในหัวแต่มีภาพให้เห็นตรงหน้าจากการกระทำ จึงส่งผลให้มีการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย

เสริมสร้างทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ในการลงมือทำบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ไม่ได้ชำนาญนัก จึงอาจทำให้ทฤษฎี Learning by Doing เกิดปัญหาได้ ยิ่งลงมือทำกิจกรรมบ่อยครั้ง ก็ยิ่งเจอปัญหาได้หลายอย่างที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเกิดปัญหาเด็กๆ จะรู้จักหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ ผ่านพ้นไปด้วยดี จึงทำให้มีองค์ความรู้กักเก็บเอาไว้ เผื่อใช้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ได้มีการพลิกแพลงวิธีแก้ไขโดยผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาก่อน โดยทักษะนี้จะเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กๆ ไปจนถึงเวลาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ได้ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

ช่วยทำให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

การทำกิจกรรมหลายอย่างโดย Learning by Doing คือการช่วยให้เด็กค้นหาความชอบ เริ่มจากการที่เด็กๆ ได้ลงมือลองทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาชอบกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่ หากไม่ก็ถือว่าได้ลองทำแล้ว แต่หากใช่ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรสนับสนุนกิจกรรมดีๆ นี้ให้กับลูกหลานต่อไป เด็กๆ จะได้มีกิจกรรมที่สนใจ ได้รู้ด้วยว่าตัวเองนั้นมีความชอบอะไร สิ่งใดที่ทำแล้วบ่งบอกถึงความเป็นเขา รวมถึงมีทักษะดีๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
แนวทางการนำ learning by doing มาปรับใช้กับเด็ก

แนวทางการนำปรัชญา Learning by Doing ไปใช้กับเด็ก

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำได้โดยเริ่มต้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น การเก็บของเล่นให้เป็นที่ เริ่มต้นจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองเก็บของเล่นลงในกล่องทุกครั้งหลังจากลูกเล่นเสร็จ เด็กก็จะมีการสำรวจและจำจดว่าการเก็บของเล่นนั้นทำเช่นไร หลังจากนั้นค่อยปล่อยให้เด็ก ได้ลองเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จด้วยตนเอง ให้ลูกได้รู้ว่าหากไม่เก็บของเล่นให้เป็นที่จะเป็นอย่างไร ห้องจะมีของเล่นระเกะระกะ มีคนมาเดินสะดุดล้มหรือไม่ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จทุกครั้ง โดยทุกอย่างสามารถจัดเป็นองค์ประกอบของการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการแนะแนวทางของพ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้นเอง

SpeakUp Language Center มีรูปแบบการเรียนการสอนภาษาทั้งจีน และอังกฤษแบบ Learning by Doing คือคอร์สสำหรับเด็กๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 2.5 – 12 ปี ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านสิ่งที่ชอบและสนใจ จึงทำให้มีแรงจูงใจและมีความสุขในการเรียนมากกว่า ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ไว และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในระยะยาวอีกด้วย

สรุป

Learning by Doing คือการเรียนรู้ผ่านการกระทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับแนวคิดจากประสบการณ์ใหม่ๆ กระตุ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และมีสรุปผลหลังจากวิเคราะห์การปฏิบัติ เป็นแรงจูงใจให้เด็กๆ ได้ศึกษา ค้นคว้าในเรื่องที่สนใจ ก่อนนำไปปฏิบัติจริง จึงทำให้เด็กๆ กระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น เกิดความสนุกและมีความสุขในการเรียนมากกว่าที่เคยเป็น เป็นหลักการที่จำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน เพราะการค้นหาข้อมูลที่รวดเร็วแค่ปลายนิ้ว ทำให้เด็กๆ มักจะรู้ตามตำราหรือทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติจริง จึงทำให้องค์ความรู้นั้นไม่สามารถนำมาใช้จริงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะไม่เคยมีการฝึกหรือลองทำมาก่อน หากแต่เมื่อมีการลงมือทำจริง อย่างน้อยก็ยังได้เห็นภาพ ได้รับรู้ว่าความรู้ที่มีนั้นเมื่อนำมาใช้จริงจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงความรู้บางอย่างที่ไม่สามารถหาได้ ต้องลงไปสถานที่จริง ทำจริงเท่านั้น ตรงนี้ก็จะทำให้ได้การเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ที่ส่งผลดีกับการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งในวันนี้และในอนาคต