รวม 9 วิธีท่องศัพท์อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ท่องได้ขึ้นใจ จำได้ไม่มีลืม
ในปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาษาที่สอง นอกจากภาษาบ้านเกิดของเรานั้น มีความสำคัญมากขึ้นในทุกๆ วัน เพราะภาษาได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งการมีคลังคำศัพท์ไว้มากๆ จะช่วยให้เราได้เปรียบในการสื่อสารและมีโอกาสเติบโตในอนาคต แต่การจะจดจำศัพท์ที่มีเป็นพันๆ คำได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ดังนั้น เราจึงต้องมีเทคนิคการท่องศัพท์ที่เหมาะกับตัวเราและได้ผลลัพธ์ที่ดี
บทความนี้ได้รวบรวมวิธีท่องศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ แถมยังไม่น่าเบื่อ เพื่อให้เกิดการจำในระยะยาว ซึ่งมีมาให้เลือกถึง 9 วิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แฟลชการ์ด การนำศัพท์ไปใช้ ไปจนถึงการสร้างมายแมพขึ้นมา ให้คุณได้ลองหาวิธีท่องศัพท์ที่ใช่ ที่เหมาะกับตัวเอง ทิ้งการจำศัพท์แบบเดิมๆ แล้วมาสนุกกับวิธีท่องศัพท์แบบใหม่กันเถอะ
1.นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด การที่เราจะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง การลงมือปฏิบัติ หรือการนำมาใช้จริง ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งนั้นได้เร็วขึ้น การใช้ร่างกายได้เรียนรู้ ใช้ร่างกายในการจดจำ ก็คือการได้นำคำศัพท์นั้นมาลองใช้จริง มาลองเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ผ่านเข้ามา เห็นอะไรก็ให้ลองนึกถึงคำศัพท์นั้นหรือการลองใช้คำศัพท์นั้นในสถานการณ์ที่ได้ใช้คำนั้นจริงๆ จะยิ่งช่วยให้จดจำศัพท์คำนั้นได้แม่นขึ้น
ข้อดี
จำศัพท์ได้มากขึ้นและจำได้แม่นกว่าการท่องเฉยๆ แถมยังเข้าใจการใช้คำศัพท์นั้น เข้าใจบริบทของคำ ซึ่งจะสามารถใช้ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะเป็นผลดีต่อเมื่อต้องใช้พูดคุยกับเจ้าของภาษาจริงๆ และยังเป็นประโยชน์ต่อการเขียน essay หรือเรียงความภาษานั้นๆ อีกด้วย
2.ฝึกทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน ให้ครบ
เป็นอีกวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างมากในการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ การฟังคำอ่านออกเสียงที่ถูกต้องในพจนานุกรมแล้วลองออกเสียงตาม ต่อด้วยเขียนลงสมุดตอนที่อ่านออกเสียงไปด้วย จะทำให้จำศัพท์ได้ดีขึ้น เพราะสมองเราจะจดจำสิ่งนั้นเชื่อมกัน
การฟังเพลงไปพร้อมๆ เนื้อเพลง ก็จะทำให้ได้คำศัพท์ใหม่ๆ และได้ท่องศัพท์ไปในตัวได้เช่นกัน หรือจะเป็นในระหว่างเดินทาง อย่างบนรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ลองเปิด Podcasts สนุกๆ ฟังก็สามารถทำให้คุ้นเคยกับภาษานั้นได้เร็ว รวมถึงได้ฝึกฟังสำเนียงได้อีกด้วย
ข้อดี
เป็นวิธีที่ไม่น่าเบื่อ เพราะนอกจากจะไม่ใช่การท่องคำศัพท์อย่างเดียว ยังได้หลายทักษะในคราวเดียวกันด้วย การฝึกออกเสียงจะทำให้ออกเสียงได้ชัดขึ้น และเมื่อสมองได้จดจำทั้งภาพและเสียงพร้อมๆ กัน สมองจะเชื่อมโยงสิ่งนั้นเข้าด้วยกัน ส่งผลให้จำศัพท์ได้ดีขึ้นอีกด้วย
3. จำคำศัพท์เป็นกลุ่ม
การจัดคำศัพท์ให้อยู่เป็นกลุ่ม เช่น จำคำที่มีความหมายคล้าย (Synonym) หรือคำที่มีความหมายตรงข้าม (Anyonym) เมื่อจำศัพท์นั้นไปพร้อมๆ กัน จะทำให้จำศัพท์ได้ทีละหลายๆ คำ และจำได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น คำว่า end, finish, complete มีความหมายว่า จบ, เสร็จสิ้น เหมือนกัน แต่ในส่วนของการจำศัพท์แบบ Synonym ต้องดูเรื่องการใช้ในบริบทต่างๆ เพราะบางคำก็ไม่สามารถใช้แทนกันได้ ต้องศึกษาความแตกต่างของคำศัพท์นั้นด้วย
ข้อดี
ช่วยให้จำได้ทีละหลายๆ คำ จะทำให้มีคลังคำศัพท์มาใช้ได้มากขึ้น และรู้ถึงความแตกต่างของคำ สามารถนำคำศัพท์นั้นๆ มาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์
4. จำจากรากศัพท์
ในบางภาษาการเรียนรู้คำศัพท์จากรากศัพท์จะทำให้เราสามารถเข้าใจที่มาของคำศัพท์นั้นได้ รากศัพท์แต่ละคำก็มีความหมายในตัว หากเราเข้าใจความหมายของรากศัพท์ก็จะสามารถจำศัพท์ที่มีที่มาจากรากศัพท์นั้นได้แม่นขึ้นและยังช่วยให้เราสามารถเดาความหมายคำศัพท์นั้นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษ มีวิวัฒนาการมาจากภาษากรีกและภาษาละติน ที่เป็นหน่วยคำอยู่ในคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย ซึ่งนั่นก็คือรากศัพท์ เช่น mono เป็นรากศัพท์ที่แปลว่า “หนึ่ง” มาจากภาษากรีก คำที่มีรากศัพท์นี้ เช่น monotone หมายถึง การพูดในระดับเสียงเดิมตลอด หรือ คำว่า monopoly หมายถึง ผูกขาด ซึ่งหากทราบถึงรากศัพท์จะทำให้เข้าใจว่าคำนั้นมีการเชื่อมกับความหมายของรากศัพท์นั้นอย่างไรนั่นเอง
ข้อดี
เป็นวิธีที่จะช่วยให้จำศัพท์ได้มากขึ้น จากการเชื่อมความหมายของรากศัพท์ ช่วยให้เดาความหมายได้ใกล้เคียงกับความหมายจริง รวมถึงไม่จำเป็นต้องนั่งท่องศัพท์ที่ยาวๆ ยากๆ เพราะแค่รู้ความหมายของรากศัพท์ก็ได้ศัพท์ใหม่หลายคำแล้ว
5. จดคำศัพท์บ่อยๆ ลงโพสต์อิท
เป็นวิธีที่จะช่วยจำเป็นภาพและสร้างจุดเชื่อมกันของคำศัพท์ได้ คือการเขียนคำศัพท์ลงบนโพสต์อิท แล้วจำไปแปะไว้ตามสถานที่ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำศัพท์นั้น เช่น คำว่า Accumulate แปลว่า เพิ่มพูน นำไปติดไว้ที่กระปุกออมสิน เน้นการแปะไว้ในที่ที่เห็นได้ง่ายหรือที่ที่ต้องเดินผ่านเป็นประจำ เพื่อให้เราเห็นผ่านตาบ่อยๆ เช่น ประตูห้องนอน กระจกห้องน้ำ ตู้เย็น เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราคุ้นเคยกับคำศัพท์นั้นไปเองโดยธรรมชาติ
ข้อดี
เมื่อเราได้เห็นคำศัพท์บ่อยๆ สมองเราจะจดจำศัพท์ได้เองโดยไม่ต้องท่องจำ และการได้เห็นบ่อบๆ จะทำให้สมองเรียนรู้จนกลายเป็นความจำในระยะยาว ทำให้ลืมได้ยาก
6. ใช้แฟลชการ์ดช่วยจำ
เป็นวิธีที่เหมือนเป็นแบบทดสอบความจำ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคำไหนที่จำได้แล้วกับคำไหนที่ยังจำไม่ได้ เป็นวิธีคลาสสิกที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี และยังสามารถพกพาไปไหนก็ได้ สะดวก นำออกมาท่องตอนไหนก็ได้ โดยแฟลชการ์ดจะเป็นกระดาษที่มีคำศัพท์ไว้ด้านนึงและคำแปลไว้อีกด้านนึง มีทั้งแบบสำเร็จรูปหรือสามารถทำแฟลชการ์ดคำศัพท์เองได้ วิธีทำนั้นก็แสนง่ายดาย
ข้อดี
วิธีนี้จะช่วยทดสอบความจำตัวเอง พอทดสอบแล้ว คำไหนที่จำไม่ได้ ก็สามารถแยกออกเป็นอีกกองนึง เพื่อที่เราจะได้โฟกัสกับคำศัพท์ที่ยังจำไม่ได้เต็มที่ ท่องตอนไหนก็ได้ และประหยัดเวลา
7. เปลี่ยนจากการจำมาเป็นเล่นเกม
เกมนอกจากจะช่วยสร้างความบันเทิงแล้ว ยังสามารถช่วยฝึกทักษะต่างๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย ซึ่งก็มีหลายคนได้คำศัพท์ใหม่ๆ จากการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์ เกมเนื้อเรื่อง ที่มีการพูดคุยกันเป็นภาษาอื่นๆ
ยังมีเกมคลาสสิกที่เป็นเกมสำหรับฝึกภาษาโดยเฉพาะด้วยเช่นกัน
เช่น เกมจับคู่คำศัพท์กับความหมาย, Hangman, Crossword หรือเกมจากแอปพลิเคชันก็สนุกไม่แพ้กัน แถมเล่นที่ไหนก็ได้ เช่น Ruzzle เกมปริศนาคำศัพท์
ข้อดี
ช่วยทำให้การท่องศัพท์เฉยๆ ไม่น่าเบื่อ เกมจะช่วยให้รู้จักผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เครียดกับการท่องศัพท์จนเกินไป และจะช่วยให้มีแรงใจในการเริ่มต้นท่องศัพท์ ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ต่อได้อีก
8. หมั่นท่องศัพท์อย่างสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญที่สุดคือความขยัน ความสม่ำเสมอ ไม่ว่าวิธีท่องศัพท์นั้นจะดีแค่ไหน แต่หากไม่ฝึกฝนเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะลืมได้ การเรียนรู้คำศัพท์หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างต้องใช้เวลา และให้เวลากับตัวเองในการทำความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ พยายามท่องคำศัพท์ให้ได้ในทุกๆ วัน แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ อย่างนั่งรอรถเพราะในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นก็สามารถทำให้ท่องศัพท์ไปได้ไม่น้อยเลย หากเห็นคำศัพท์นั้นเป็นประจำ สมองก็จะเรียนรู้คำศัพท์นั้นไปจนทำให้เราจำศัพท์นั้นได้ขึ้นใจ ไม่มีวันลืมนั่นเอง
ดังนั้น เราอาจจะกำหนดช่วงเวลาสำหรับการทบทวนคำศัพท์ออกเป็นช่วงๆ อย่างทบทวนหลังเรียนเสร็จทันที ทบทวนหลังเรียนไปแล้ว 24 ชั่วโมง ทบทวนหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ทบทวนหลังจากนั้น 1 เดือน ซึ่งการแบ่งช่วงเวลาเหล่านั้น จะช่วยลดการสูญเสียความจำจากสิ่งที่เรียนรู้ไปได้
ข้อดี
สร้างความทรงจำในระยะยาวได้ ช่วยให้สามารถจำสิ่งที่เรียนรู้และเข้าใจสิ่งนั้น เมื่อได้ให้เวลาและความสม่ำเสมอสมองจะจดจำ โอกาสลืมคำศัพท์ก็จะน้อยลงด้วย
9. ใช้มายแมพเข้าช่วย
Mind map คือสิ่งที่จะช่วยให้ได้เข้าใจคำศัพท์นั้นได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างคำและบริบทของคำเหล่านั้นสามารถเพิ่มรูปภาพได้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จะจดจำได้ง่ายขึ้น มายแมพจะคอยช่วยให้เราจัดระเบียบความได้ ผ่านการเชื่อมโยง โดยจะมีการแตกย่อยลงไปในรายละเอียด ทำให้เห็นภาพรวมของคำศัพท์ได้ชัดเจนกว่าการท่องเฉยๆ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยจัดลำดับความยากง่ายของคำศัพท์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการค่อยๆ เรียนรู้และทบทวนได้ง่าย การจัดกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกัน จะทำให้เราจดจำมันได้ดีขึ้น
มายแมพนั้นสร้างขึ้นได้ง่ายมาก โดยอาจจะเขียนลงสมุดหรือบน Note iPad หรือ Post it ก็ได้ เพียงแค่มีพื้นที่สำหรับการใส่คำศัพท์ แล้วเริ่มสร้างมายแมพได้เลย โดยมีวิธีดังนี้
- วางกระดาษเป็นแนวนอนหรือหันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นแนวนอน เพื่อให้มีพื้นที่ในการเติมคำศัพท์ลงไป
- วาดรูปหรือวาดกรอบตรงกลาง เพื่อใส่หัวข้อหลักของคำศัพท์ เช่น หมวดหมู่ของกิน หมวดหมู่คำกิริยา เป็นต้น
- พอได้หัวข้อหลักมาแล้ว ก็แตกแยกหมวดหมู่ย่อยออกมาจากหัวข้อหลัก เช่น ในกรณีที่เป็นหัวข้อ Food หมวดหมู่ที่แยกออกมาอาจจะเป็น Thai Food, Italy Food เป็นต้น
- หลังจากนั้นให้ลากเส้นออกจากหัวข้อหลัก ใช้หมวดหมู่ย่อยสร้างกล่องข้อความ แล้ววาดเส้นเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงไปยังคำศัพท์ใหม่ๆ
ข้อดี
ช่วยจับประเด็นสำคัญได้ดี อันมาจากการแยกหมวดหมู่ ทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น เห็นลำดับความสำคัญ มีคำที่ยากและคำที่ง่าย ทำให้ท่องศัพท์ได้เป็นระบบจากหัวข้อหลักไปยังหัวข้อย่อย
สรุป
แต่ละคนก็มีความสามารถในการจดจำต่างกัน เทคนิคการท่องศัพท์จึงต่างกันด้วย ตามสไตล์ของตัวเอง 9 เทคนิคที่ได้กล่าวถึงไป สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ตามความชอบของผู้ที่ต้องการจำศัพท์ได้ ในแต่ละวิธีก็จะมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำคำศัพท์ไปใช้จริงที่จะสามารถทำให้จำศัพท์ได้ในระยะยาวผ่านการลองใช้ในสถานการณ์จริง การใช้แฟลชการ์ดที่ช่วยให้จำศัพท์ได้มาก รวมไปถึงการจำศัพท์ด้วย มายแมพเองก็ดี ที่จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของคำศัพท์ที่แตกแยกย่อยออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มจำศัพท์ เพราะจะทำให้เห็นภาพและรู้ถึงความหมายอื่นๆ เพิ่มเติม จะได้คำศัพท์มากขึ้นและเข้าใจบริบทของมัน
ซึ่งที่ Speak Up เองก็มีเทคนิคจำคำศัพท์ต่างๆ ที่จะช่วยให้การจำศัพท์ของเด็กๆ มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน หากผู้ที่กำลังสนใจเรียนรู้คำศัพท์หรือผู้ปกครองอยากให้ลูกๆ หลานๆ มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ก็สามารถมาเรียนที่ Speak Up ได้
แต่นอกจากวิธีจำศัพท์ ในการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อให้จดจำได้ ต้องอาศัยความสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
หมวดหมู่
- Blog (52)
- Uncategorized (1)
โพสต์ล่าสุด
- เลี้ยงลูกแบบ BLW ฝึกให้ลูกน้อยจับอาหารกินด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร
- Leadership คืออะไร และเทคนิคเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีทักษะการเป็นผู้นำ
- ศิลปะการตัดกระดาษจีน กิจกรรมฝึกฝนสมาธิง่ายๆ พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรม
- รวม 100 ประโยคกล่าวคำชื่นชมภาษาอังกฤษ ไว้ชื่นชมคนแบบไม่ซ้ำกัน
- รู้จักทฤษฎี Constructivism สอนเด็กให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก