fbpx

Resilience Skills คืออะไร จำเป็นต่อเด็กเล็กอย่างไร พร้อมวิธีการสอน

สารบัญ
Resilience Skills คืออะไร จำเป็นต่อเด็กเล็กอย่างไร พร้อมวิธีการสอน

Resilience Skills คืออะไร จำเป็นต่อเด็กเล็กอย่างไร พร้อมวิธีการสอน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ทักษะ Resilience จึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมากยิ่งขึ้น เพราะ Resilience Skills คือทักษะความยืดหยุ่นทางจิตใจ ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวจากความยากลำบาก ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด 

บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจว่า ทำไมการมี Resilience Skills จึงจำเป็นต่อเด็ก ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดทักษะนี้มีอะไรบ้าง และจะสามารถสร้างทักษะนี้ให้กับเด็กอย่างไร

ความจำเป็นของ Resilience Skills ที่มีต่อเด็กเล็ก

ความจำเป็นของ Resilience Skills ที่มีต่อเด็กเล็ก

Resilience Skills คือ ความยืดหยุ่นทางจิตใจเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความเครียด ความทุกข์ยาก และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะนี้ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการควบคุมอารมณ์ สร้างมิตรภาพ และแก้ปัญหาได้อย่างมีสติ ซึ่งเด็กที่มีความยืดหยุ่นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดีและพร้อมเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิต

3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสริม Resilience Skills

3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสริม Resilience Skills

การส่งเสริมให้เด็กมี Resilience Skills รวมถึงแนวทางในการพัฒนาให้เด็กมีความยืดหยุ่น และแข็งแกร่งทางจิตใจ นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังนี้

1. คนในครอบครัว

พื้นฐานของการดูแลเด็กส่วนใหญ่มักมาจากครอบครัว จึงเป็นปัจจัยสำคัญแรกที่มีอิทธิพลต่อการสร้าง Resilience Skills เพราะการสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และเต็มไปด้วยความรัก จะช่วยให้เด็กมีพื้นฐานที่มั่นคงและรู้สึกปลอดภัย โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในการแสดงให้เห็นถึงวิธีการรับมือกับความเครียดอย่างมีสติ 

นอกจากนี้ เมื่อเด็กๆ มีปัญหา ผู้ใหญ่ควรเป็นผู้ที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาและช่วยสร้าง Resilience Attitude โดยการให้โอกาสกับเด็กได้แก้ไขปัญหาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วยตนเองก่อน แทนที่จะรีบเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ทุกครั้ง

2. นิสัยส่วนตัวของเด็ก

เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะนิสัยที่บ่มเพาะให้เกิดความเป็นตัวเองที่ไม่เหมือนกัน แต่นิสัยบางอย่างก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม และปรับตัวได้เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ต่างกันไป สิ่งนี้จึงช่วยเสริมทักษะ Resilience ได้อย่างดี ซึ่งเด็กที่สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ จะสามารถฟื้นตัวจากความผิดหวังได้เร็วกว่า เพราะเด็กที่มีนิสัยดังกล่าว จะเรียนรู้ความอดทนได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความลำบาก และสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดี รวมถึงเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะไม่กลัวที่จะต้องเจอกับความท้าทายที่เข้ามาในชีวิต

3. สิ่งแวดล้อมรอบตัว

เมื่อเด็กต้องออกไปพบเจอกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่โรงเรียนหรือบุคคลอื่น สิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงเป็นอีกส่วนที่ส่งผลต่อ Resilience Attitude ของเด็กๆ อย่างการมีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมทั้งจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง จะยิ่งช่วยให้เด็กมีกำลังใจ และแรงสนับสนุน กล้าที่จะทำร่วมกิจกรรมต่างๆ ทำให้เด็กเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่สนับสนุนการให้โอกาสเด็กในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จะช่วยส่งเสริม Resilience Skills ได้ดียิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากเด็กทำผิดพลาดแต่มีครูที่ให้การสนับสนุน และชื่นชมความพยายามของเด็ก ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้เด็กสามารถปรับตัวจากสิ่งที่เคยทำผิดพลาดได้

9 วิธีการส่งเสริมให้เด็กมี Resilience Skills

9 วิธีการส่งเสริมให้เด็กมี Resilience Skills

แนวทางต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริม Resilience Skills เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และสามารถเผชิญกับความท้าทายได้อย่างมั่นคง มีดังนี้

1. สอนให้ควบคุมอารมณ์

การที่เด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ จะช่วยให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และฟื้นตัวจากความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก หากเด็กมีอารมณ์โกรธ หรือเครียดก็สามารถสอนการจัดการอารมณ์ให้เด็กได้ฝึกการตั้งสติ หายใจเข้าลึกๆ เพื่อสงบสติอารมณ์ด้วยตัวเองได้

2. สังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ตัว

เราสามารถฝึกให้เด็กสังเกตผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว ทั้งการพูดคุย พฤติกรรมต่างๆ เพราะการเห็นคนใกล้ตัวที่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาและมีวิธีการจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นเป็นอย่างดี จะยิ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้

3. ให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจะช่วยให้เด็กสามารถสะท้อนความคิด และอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น เช่น เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทาย หรือความล้มเหลว การคิดย้อนไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิเคราะห์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นๆ จะช่วยเสริมสร้างทักษะ Resilience ไว้จัดการกับสถานการณ์คล้ายกันในอนาคต โดยการตั้งเป้าหมายที่มีความสมเหตุสมผล และวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความมั่นใจ และสามารถจัดการกับความท้าทายอื่นๆ ได้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ ประสบการณ์จริงยังช่วยพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทำให้ได้พบเจอกับปัญหาจริง และสามารถหาวิธีที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหานั้นๆ

4. พาเด็กทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเอง

การพาเด็กทำกิจกรรมต่างๆ หรือให้โอกาสกับเด็กได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ชอบ และความถนัด ถือเป็นการส่งเสริม Resilience Skills ที่ดี อย่างการแข่งขันกีฬาอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความกดดัน และความผิดหวังจากความแพ้ หรือการเรียนเล่นดนตรีจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ถึงความสำคัญของความอดทน และความพยายามจนกว่าจะสามารถเล่นดนตรีได้ หากเป็นกิจกรรมแบบกลุ่มก็จะช่วยให้เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกัน 

นอกจากนี้ การให้เด็กได้มีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมที่หลากหลายและท้าทาย จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทาย เสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงยังได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในการฟื้นตัวผ่านประสบการณ์จริง

5. สอนให้ผูกมิตร และมีความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง

การส่งเสริม Resilience Skills โดยการสอนเด็กให้เรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากให้เด็กพูดคุยและฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ จะช่วยให้เด็กสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้ หรือการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและการตั้งคำถามว่า “ถ้าเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร” การเรียนรู้ที่จะมองโลกจากมุมมองของผู้อื่นจะช่วยเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น 

รวมถึงการสอนให้เด็กอยู่เคียงข้างเพื่อนหรือคนในครอบครัวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยให้เด็กช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ในทางกลับกัน หากเด็กๆ ต้องการกำลังใจจากใครสักคน การมีความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้มีคนคอยรับฟังเช่นกัน

6. สอนให้เด็กมีการวางแผนในกิจวัตรประจำวัน

การสอนให้เด็กมีการวางแผนในกิจวัตรประจำวัน คือ การสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะมองไปข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการเสริมสร้างทักษะ Resilience ได้ เป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถทำได้จริง เช่น การกำหนดเป้าหมายเป็นประจำวันหรือสัปดาห์ การทำให้เด็กเข้าใจเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้มีความมุ่งมั่น และรู้ว่าต้องทำอะไรในแต่ละวัน รวมถึงการสอนให้รู้จักการจัดระเบียบเวลา เช่น การทำตารางกิจกรรมประจำวัน หรือการใช้ปฏิทินเพื่อวางแผนกิจกรรม การเรียนรู้ที่จะจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เด็กสามารถจัดการกับความเครียดจากงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น 

นอกจากนี้ การทบทวนแผนประจำวัน และการปรับเปลี่ยนเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามา เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวตามสถานการณ์และช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นได้

7. ผลักดันให้เด็กกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

สิ่งที่จะช่วยเพิ่ม Resilience Skills ให้เด็กได้ คือ การให้เด็กกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการให้โอกาสเด็กในการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันความคิดของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การเลือกเมนูอาหาร การเลือกทำกิจกรรมกับครอบครัวในช่วงวันหยุด การประชุมในกลุ่มกิจกรรม เป็นต้น 

ซึ่งการสนับสนุนให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ และเสริมทักษะในการสื่อสาร ทั้งนี้ผู้ใหญ่สามารถสอนให้เด็กมีการตัดสินใจที่ดีได้ด้วยการให้เด็กวิเคราะห์ตัวเลือกที่มีอยู่ พิจารณาผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ และเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะการสอนให้เด็กมีวิธีการตัดสินใจที่เป็นระบบจะช่วยให้เด็กรู้จักการคิดอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้ก็ยังสามารถให้การสนับสนุนและข้อเสนอแนะแบบสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆ จะได้สามารถนำไปปรับปรุงใช้ในครั้งหน้า

8. แนะนำการแก้ปัญหาเป็นด้วยตัวเอง

การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ทำได้โดยสอนให้เด็กเข้าใจปัญหา หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มหาวิธีแก้ไข  เมื่อเข้าใจถึงปัญหาแล้ว ก็ลองแนะนำให้เด็กคิดถึงวิธีในการแก้ไขปัญหา เพื่อหาแนวทางหรือวิธีแก้ไขที่ต่างกัน

9. ส่งเสริมให้เด็กมีความรับผิดชอบ

การส่งเสริมให้เด็กมีความรับผิดชอบ จะทำให้เด็กมี Resilience Skills เพราะความรับผิดชอบ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การจัดการกับผลลัพธ์ของการกระทำของตนเอง และการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น โดยให้เด็กมีหน้าที่รับผิดชอบที่เหมาะสมกับวัย และความสามารถของตัวเอง เช่น การทำการบ้านตามกำหนด การดูแลสัตว์เลี้ยง การจัดโต๊ะอาหาร เป็นต้น 

ซึ่งการมอบหมายหน้าที่เหล่านี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ความสำคัญของการรับผิดชอบ และการทำงานให้เสร็จสิ้นด้วยตัวเองได้ รวมถึงการสอนให้เด็กเข้าใจว่าการกระทำ มีผลกระทบต่อผู้อื่นและสิ่งรอบตัว เช่น การทำงานบ้าน หรือการช่วยเหลือในกิจกรรมครอบครัวจะทำให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ของตนให้ดี หรือการที่เด็กเห็นผู้ใหญ่ทำหน้าที่ของตนอย่างมีความรับผิดชอบจะช่วยให้เข้าใจและเรียนรู้จากตัวอย่าง

สรุป

Resilience skills คือทักษะที่ช่วยให้สามารถฟื้นตัวจากความเครียด หรืออุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจำเป็นกับเด็กเพราะช่วยให้สามารถจัดการกับความเครียด และความท้าทายในชีวิตประจำวันได้ดี ซึ่งผู้ใหญ่สามารถสอนเด็กได้หลายวิธี เช่น การควบคุมอารมณ์ การพาเด็กทำกิจกรรมต่างๆ การผลักดันให้เด็กกล้าแสดงออก เป็นต้น 

โดยที่ Speak Up เป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนที่ประยุกต์ใช้การสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) มีการสอนที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้กับเด็กวัย 2.5 ถึง 12 ปี ช่วยให้มีศักยภาพในการเรียนเต็มที่ สามารถเข้าใจเนื้อหาและนำไปใช้ได้จริง รวมถึงยังทำให้มีพัฒนาการในการเติบโตที่สมวัย